วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

การเปรียบเทียบข้อเหมือนและข้อแตกต่างของรัฐธรรมนูญอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา

การเปรียบเทียบข้อเหมือนและข้อแตกต่างของรัฐธรรมนูญอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา
                รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของแต่ละประเทศที่บังคับใช้เพื่อเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการ ควบคุมให้ประเทศนั้นเกิดความสงบร่มเย็น ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ หลายคนมักจะสงสัยว่าคำว่า “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” และ “รัฐธรรมนูญ” แตกต่างกันอย่างไร ผู้เขียนขออธิบายดังนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่ว่าด้วยการจัดองค์กรของรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ส่วนรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐเป็นรายฉบับๆ ไป เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" และไม่เรียกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ  ส่วนในความหมายอย่างแคบ "รัฐธรรมนูญ" ต้องมีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ใช่สิ่งเดียวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะ "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" มีความหมายกว้างกว่าและจะเป็นรูปแบบลายลักษณ์อักษรหรือจารีตประเพณีก็ได้ รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้นมีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีตประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย
                ผู้เขียนกำลังจะอธิบายให้เข้าใจถึงลักษณะของข้อเหมือนและข้อแตกต่างของรัฐธรรมนูญอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา โดยจะเริ่มอธิบายลักษณะที่มีความเหมือนกันเป็นลำดับแรก คือ ทั้งสองประเทศมีการใช้ระบบการปกครองที่มีความเป็นประชาธิปไตย มีการจัดการเลือกตั้ง เพื่อเลือกผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารในการบริหารประเทศ  ซึ่งทั้งสองประเทศมีสถาบันหลักที่สำคัญคล้ายกัน คือ มีสถาบันนิติบัญญัติ สถาบันบริหาร และสถาบันตุลาการ ที่มีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน                        
                ในส่วนของลักษณะที่มีความแตกต่างกันของรัฐธรรมนูญ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาและพบข้อแตกต่างของระบบของรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศนี้หลายประการ คือ ประเทศอังกฤษ มีการใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ เพราะอังกฤษเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่อังกฤษได้สร้างกฎเกณฑ์การปกครองประเทศที่เป็นมรดกสำคัญ ซึ่งทิ้งไว้ให้แก่โลก คือ ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาขึ้น ดังที่มีประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก ต่างพากันใช้ระบบนี้ภายใต้ความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันของ 3 สถาบันหลัก  ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีการใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร เน้นให้เห็นหลักสำคัญของการปกครองประเทศและกลไกที่ทำให้สหรัฐคงความเป็นประชาธิปไตยได้ยั่งยืนมั่นคง และยังก้าวไปข้างหน้าได้มากกว่าประเทศ ส่วนใหญ่ในโลก ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ผู้เขียนจะอธิบายลักษณะความแตกต่างของรัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศ ดังนี้
1.             ประเทศอังกฤษเรียกรัฐธรรมนูญของตนเองว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา เรียกว่า รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายความแตกต่างของทั้งสองคำนี้แล้วว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายกลุ่มหนึ่งที่ว่าด้วยการจัดองค์กรของรัฐและการใช้อำนาจรัฐ ส่วนรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐเป็นรายฉบับๆ ไป
2.             สืบเนื่องจากข้อแรก ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะ อังกฤษได้สร้างกฎเกณฑ์จารีตประเพณีเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ แต่อังกฤษก็ได้มีการออกกฎหมายต่าง ๆ ขึ้นไว้ใช้มากมาย เพียงแต่ไม่ได้รวบรวมขึ้นเป็นรัฐธรรมนูญ ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ยังใช้บังคับอยู่ยาวนาน และเก่าแก่ที่สุดในโลก
3.             กฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษคือรัฐธรรมนูญที่มีชีวิต เพราะ หลักการปกครองต่าง ๆ ไม่ได้อยู่รวมกันเป็นรัฐธรรมนูญเฉพาะ แต่กระจายอยู่ตามกฎหมายต่าง ๆ และคำพิพากษาต่างๆ รวมทั้งธรรมเนียมปฏิบัติที่ สืบทอดกันมาจนกลายเป็นจารีตประเพณี จึงมีความยืดหยุ่นสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ เสมือนเป็นสิ่งมีชีวิต ส่วนรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาคือเอกสารอันยั่งยืน เพราะเขียนขึ้นอย่างเรียบง่ายไม่กำหนดรายละเอียดมากมาย สิ่งที่ถูกกำหนดเป็นเพียงหลักการกว้างๆ เท่านั้น แต่จะเปิดช่องเอาไว้ เพื่อให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามสมควร
4.             หลักการสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษ คือ อังกฤษมีรูปแบบการปกครองเป็นรัฐเดี่ยว                  ในการใช้อำนาจบัญญัติกฎหมาย ผู้ใช้อำนาจนี้ได้แก่ พระมหากษัตริย์ สภาขุนนาง และสภาสามัญพระราชบัญญัติของรัฐสภาถือเป็นกฎหมายสูงสุดไม่มีกฎหมายใดมีอำนาจเหนือกว่า และที่สำคัญคือ อังกฤษใช้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาภายใต้พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ส่วนหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา คือ สหรัฐอเมริกามีรูปแบบการปกครองเป็นสหพันธรัฐ มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐบาลมลรัฐกับรัฐบาลกลาง มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางเพื่ออาศัยเป็นกลไกในการจำกัดอำนาจของรัฐบาล และสหรัฐอเมริกาใช้ระบบการปกครองประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี
5.             ประเทศอังกฤษมีนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ  รัฐสภาอังกฤษมีอำนาจหลักในการบัญญัติกฎหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สภา ได้แก่ สภาสามัญชน  เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง และสภาขุนนาง เป็นสภาที่ไม่ได้เลือกตั้งจากประชาชน แต่มาจากการสืบเชื้อสายและการแต่งตั้งขึ้น   ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นประมุขของประเทศ ฝ่ายนิติบัญญัติประกอบด้วย 2 สภา คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
6.             ประเทศอังกฤษ มีการควบคุมการใช้อำนาจ อำนาจในการตรวจสอบและถ่วงดุลของฝ่ายตุลาการจะไม่มีต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะศาลไม่มีอำนาจพิจารณาว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่สามารถตรวจสอบได้ว่าฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายให้ไว้หรือไม่ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารมีความทับซ้อนในตัวบุคคลกันอยู่ ความทับซ้อนกันนี้สามารถเรียกว่า ระบบควบอำนาจ เพราะถึงรัฐบาลจะมาจากเสียงข้างมากของสภาสามัญชน แต่สภาขุนนางก็ยังทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเสมอ  ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีการควบคุมการใช้อำนาจ มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบหรือคานอำนาจซึ่งกันและกัน เช่น ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการออกพระราชบัญญัติ แต่ประธานาธิบดีมีสิทธิยับยั้งได้ แต่หากร่างพระราชบัญญัตินั้นได้ผ่านความเห็นชอบ 2 ใน 3 ของฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถออกเป็นกฎหมายได้ ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงสุด โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ ซึ่งหลักการสร้างดุลอำนาจหรือคานอำนาจนี้ ใช้หลักการที่ว่า อำนาจย่อมหยุดยั้งได้โดยอำนาจ
7.             ประเทศอังกฤษมีสถาบันหลักที่สำคัญ 3 สถาบัน แต่มีลักษณะที่ที่ไม่ได้มีการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างกันอย่างเด็ดขาด ทั้งในแง่ตัวบุคคล และในแง่ของบทบาทและหน้าที่ ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันของแต่ละฝ่ายเอาไว้อย่างสมดุล และมีการแบ่งแยกอำนาจของทั้งสามฝ่ายอย่างชัดเจน
                ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศจะมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ เนื่องจากบริบทของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สภาพภูมิประเทศ ลักษณะประชากร วัฒนธรรม จารีตประเพณี รวมทั้งวิวัฒนาการทางการปกครองของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้การกำหนดกรอบหรือกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในประเทศนั้นๆ ย่อมต้องบัญญัติขึ้นตามบริบทของแต่ละประเทศ และต้องคำนึงถึงความต้องการของประชาชน ถ้าการบัญญัติกฎหมายเป็นไปอย่างถูกวิธีและสิ่งที่ควรจะเป็น ก็จะก่อให้เกิดความความสงบสุขของประเทศ ก่อให้เกิดความอยู่ดีกินดีของประชาชน ความสงบสุขของสังคม ความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมือง และสุดท้ายก็จะทำให้ประเทศชาติรุดหน้าและดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสายตาของนานาประเทศ บนพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมกัน
เอกสารอ้างอิง
ณัฐกร  วิทิตานนท์.  หลักรัฐธรรมนูญเบื้องต้น.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2553.
วิชัย ตันศิริ. รัฐธรรมนูญประเทศตะวันตกและไทย : กรณีศึกษาทางประวัติศาสตร์และกฎหมาย.  กรุงเทพฯ              : สถาบันนโยบายศึกษา, 2540.
วิษณุ เครืองาม.  กฎหมายรัฐธรรมนูญ.  กรุงเทพฯ : นิติบรรณการ, 2530.
สมบูรณ์ สุขสำราญ.  ระชาธิปไตยในประเทศอังกฤษ ใน ประชาธิปไตย : อุดมการณ์ หลักการ และ          แบบอย่างการปกครองหลายประเทศ, กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น