วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

บทวิเคราะห์ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทย 2554

ปฐมเหตุก่อนน้ำท่วมประเทศไทย 2554       
                ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปีจนถึงปลายปีของประเทศไทย เกิดจากพายุที่พัดผ่านประเทศไทยอย่างมากมาย จนทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเกินความกักเก็บของอ่างเก็บน้ำบนเขื่อน ช่วงเดือนสิงหาคมอิทธิพลของพายุนกเตน ได้ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออกของไทยจนทำให้ถูก น้ำท่วมในหลายๆพื้นที่  ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำหน้าที่ในการพยากรณ์อากาศ รายงานปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ เช่น แผ่นดินไหว ความสูงของคลื่น รายงานพยากรณ์อากาศประจำวันและพยากรณ์อากาศในช่วงเวลาที่กำลังจะมาถึง รวมทั้งออกประกาศเตือนต่างๆ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย ถึง 20ลูก อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายๆพื้นที่ได้ จึงประกาศให้ประชาชนเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว
                จากเหตุการณ์ที่เกิดพายุพัดผ่านประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนทางตอนบนของประเทศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์ ที่ต้องระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วม รวมทั้งเขื่อนภูมิพลที่มีการระบายน้ำออกมาเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณภาคกลางของประเทศไทย
                จากคำพูดของส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งได้กล่าวหาทางฝ่ายรัฐบาลว่า รัฐบาลบริหารความเสี่ยงผิดพลาด โดยเอาคำพูดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมากล่างอ้าง บอกว่า การจัดการน้ำปีนี้เกิดจากการพร่องน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ในปริมาณน้อยเกินไป แต่ถ้าสามารถพร่องน้ำเหลือครึ่งเขื่อน จะทำให้ปัญหาเบาลง และส.ส.พัทลุงคนนี้อ้างตามคำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 5กันยายน พูดว่า ได้สั่งให้กรมชลประทานไปประสานงานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ให้ลดการระบายน้ำเขื่อนภูมิพลและหน่วงน้ำไม่ให้เกิน 2090 ลบ.ม.ต่อวินาที  ซึ่งกรมชลประทาน เป็นหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหน้าที่จัดให้ได้มาซึ่งน้ำเพื่อกักเก็บรักษา ควบคุม ส่ง ระบาย หรือ แบ่งน้ำเพื่อการเกษตร การพลังงาน การสาธารณูปโภค หรือการอุตสาหกรรม และหมายรวมถึงการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากน้ำ กับการคมนาคมทางน้ำซึ่งอยู่ในเขตชลประทาน รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศไทย โดยรับผิดชอบเสมือนเป็นเจ้าของเขื่อนขนาดใหญ่ของประเทศไทย  สาเหตุที่มีการไม่ปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในช่วงนั้น เพราะพื้นที่ท้ายเขื่อนเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญ ของกลุ่มผู้มีอิทธิพลในจังหวัดสุพรรณบุรี วิเคราะห์ง่ายๆ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นคนของผู้มีอิทธิพลในจังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้น เขาสามารถควบคุมหรือสั่งการกรมชลประทานให้ลดการระบายน้ำออกจากเขื่อนได้  โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง และอีกประการหนึ่ง เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ลงมาสู่พื้นที่ตอนล่างภาคกลาง แต่ในช่วงแรกจังหวัดสุพรรณบุรี ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเลย ซึ่งชาวบ้านที่ชัยนาทได้พูดว่า ถ้าชัยนาทรวมกับสุพรรณบุรี น้ำก็คงไม่ท่วมชัยนาทหรอก  จากคำพูดของชาวบ้านคนนี้ สามารถวิเคราะห์และพิจารณาจากข้อมูลได้ ดังนี้ สาเหตุที่น้ำไม่ท่วมสุพรรณบุรี อาจจะเกิดจากไม่มีการปล่อยน้ำไปทางสุพรรณบุรี ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกมาโต้แย้งออกมาว่า การบริหารจัดการน้ำต้องดูตามสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และการระบายน้ำฝั่งตะวันตกนั้น ทำได้ช้ากว่าฝั่งตะวันออก เพราะปากแม่น้ำท่าจีน มีลักษณะแคบ ไม่ได้มาจากสาเหตุที่มาจากการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมสุพรรณบุรี อย่างที่หลายๆฝ่ายกล่าวหา
                การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผย ชี้แจง รมว.พลังงาน ให้ทราบเรื่องการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ว่า กฟผ.ดำเนินการตามแผนการระบายน้ำของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งพิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพน้ำในขณะนั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการ กฟผ. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตามที่สื่อมวลชนบางฉบับเสนอบทความว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตำหนิ กฟผ. ที่ไม่ได้เตรียมรับมือกับปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ลำน้ำยม ซึ่งมีปริมาณมากนั้น ทาง กฟผ. ได้ประสานกับทางรัฐมนตรีแล้วทราบว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดในการสัมภาษณ์ ทาง กฟผ. ได้เรียนข้อมูลให้รัฐมนตรีทราบถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกจำนวนมากทั้งบริเวณท้ายเขื่อนและในลุ่มน้ำที่ยังไม่มีระบบชลประทานรองรับ เช่น แม่น้ำยม แม่น้ำวัง ซึ่งมีเพียงเขื่อนขนาดเล็กทางต้นน้ำ รวมทั้งแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีปริมาณรวมกันประมาณร้อยละ ๘๐ ของปริมาณน้ำที่ลงมาในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นต้นเหตุหลักของปริมาณน้ำจำนวนมากที่ท่วมในพื้นที่ภาคกลางและบริเวณกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน การแก้ไขในระยะยาวจึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาถึงการสร้างระบบชลประทานรองรับในลุ่มน้ำดังกล่าว โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมซึ่งมีปริมาณน้ำมาก
                ทั้งนี้ จากข้อมูลน้ำที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาในเดือนกันยายน ตุลาคม  ซึ่งเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 21039 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนภูมิพลระบายน้ำในเดือนกันยายน ตุลาคม  จำนวน 2722 ล้าน ลบ.ม. หรือเท่ากับร้อยละ 13 ของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
                นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ได้กล่าวยืนยันว่า กฟผ. ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ตามแผนการระบายน้ำของคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ที่มีกรมชลประทานเป็นประธาน และอีก 8 หน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมอุทกศาสตร์ สำนักระบายน้ำ กทม. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ กฟผ. ซึ่งกำหนดแผนการระบายน้ำเป็นรายสัปดาห์และรายวันมาโดยตลอด ซึ่งได้พิจารณาถึงประโยชน์ในการเกษตรกรรม การบรรเทาอุทกภัย และการอุปโภคบริโภค เป็นหลัก ส่วนการผลิตไฟฟ้าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการระบายน้ำเท่านั้น ทั้งนี้ ในการระบายน้ำ ทางอนุกรรมการฯ จะควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำของแต่ละเขื่อน ซึ่งได้จัดทำจากสถิติทางอุทกศาสตร์ย้อนหลัง 30-40 ปี อย่างไรก็ดี กฟผ. จะได้นำข้อมูลน้ำปีนี้ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ มาปรับปรุงเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป
                จากข้อความข้างต้น สามารถวิเคราะห์การทำงานของหน่วยงานภาครัฐได้ว่า การทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ ถึงแม้จะมีการประสานการทำงานร่วมกันของหลายๆหน่วยงาน แต่การทำงานอาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ การดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างถาวรก็ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ซึ่งจุดสำคัญของปัญหาน้ำท่วม เกิดจากการทำงานที่ผิดพลาดของกรมชลประทานในการสั่งให้ระบายน้ำออกจากเขื่อน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่ได้มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนที่บริหารจัดการน้ำผิดพลาด
น้ำท่วมภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน
                หลังจากเขื่อนภูมิพลระบายน้ำออกจากเขื่อนแล้วนั้น จังหวัดตากปละจังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วม แต่ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบยังไม่ดี การแจ้งเตือนไม่ทั่วถึง และทำให้ประชาชนเตรียมรับมือกับภัยน้ำท่วมไม่ทัน ส่งผลให้ประชาชนหลายคนได้รับความเดือนร้อน สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ภายหลังน้ำท่วมหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ หน่วยงานที่มีบทบาทหลังน้ำท่วม คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติภารกิจที่เคยซ้ำซ้อนอยู่ในหน่วยงานอื่นๆ ให้เป็นระบบ โดยมีภารกิจในการจัดทำแผนแม่บท วางมาตรการ ส่งเสริมสนับสนุนการป้องกันบรรเทาและฟื้นฟูจากสาธารณภัย โดยกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัย สร้างระบบป้องกัน เตือนภัย ฟื้นฟูหลังเกิดภัย และการติดตามประเมินผล เพื่อให้หลักประกันในด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ได้เข้าให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ซึ่งได้มีการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ที่มีหน้าที่สั่งการและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ภายในจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าฯมีหน้าที่สั่งการและคอยประสานงานกับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
                สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักมากจังหวัดหนึ่ง เพราะเป็นพื้นที่รองรับน้ำจากภาคเหนือ จากแม่น้ำ ปิง วัง ยม และน่าน ไหลลงมารวมกันจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากน้ำโพ ทำให้หน่วยงานราชการ ห้างร้านเอกชน และประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ รวมมือกันสร้างแนวป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมในตัวเมืองนครสวรรค์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามัคคี และความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหมู่คนไทย  ซึ่งผู้ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชน นอกจากข้าราชการพลเรือน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ข้าราชการของหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ยังมีเหล่าทหารที่ออกมาให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน  โดยกองทัพบกยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่ชุมชนและพื้นที่สำคัญไม่ให้ถูกน้ำท่วม โดยร่วมกับสำนักงานจังหวัดนครสวรรค์และภาคประชาชน ทำพนังกั้นน้ำ เสริมความแข็งแรง และป้องกันแนวคันกั้นน้ำอย่างต่อเนื่อง
                จากข้อมูลข้างต้น สามารถอธิบายได้ว่า การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ซึ่งอาจจะมาจากอยู่ในช่วงเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ของไทย รวมถึงงบประมาณที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหายังไม่เพียงพอ ไม่สามารถนำเงินงบประมาณออกมาใช้ได้ทันท่วงที ซึ่งในช่วงเกิดวิกฤตน้ำท่วมอยู่ในช่วงปลายปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลชุดที่แล้ว ได้นำเงินไปบริหารประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลชุดปัจจุบันที่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ ไม่มีเงินที่จะนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ ส่วนนโยบายที่รัฐบาลชุดนี้ ที่มีต่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมก็ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เพราะรัฐบาลยังเป็นรัฐบาลใหม่ การดำเนินการบริหารประเทศยังไม่มีความเต็มที่ การดำเนินนโยบายต่างๆ ก็อยู่ในขั้นเตรียมการ การสั่งการของรัฐบาลก็อาจจะยังไม่มีความชัดเจนทางด้านของข้อมูลเกี่ยวกับระดับน้ำในเขื่อน รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกบริเวณประเทศไทย
บทวิเคราะห์ตัวแบบในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
                ผู้ที่มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประชาชน คือ หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรเอกชน ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน ซึ่งการช่วยเหลือแบ่งเป็น การบรรจุกระสอบทรายเพื่อทำแนวคันกั้นน้ำ  การแจกถุงยังชีพ การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากอันตราย การตั้งศูนย์บัญชาการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มความสามารถ แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องมีการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และระบบการบริหารจัดการน้ำที่ดี โดยต้องเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย  ซึ่งเราสามารถนำหลักทฤษฎีเกี่ยวกับตัวแบบการวิเคราะห์นโยบายสาธารณะเข้ามาใช้ได้ ผู้เขียนจึงให้มุมมองไว้ดังนี้
1.             มุมมองตัวแบบผู้นำ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้นำทางการเมือง นั่นก็คือ รัฐบาล และนักการเมือง ส่วนองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั่นก็คือ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และสุดท้ายประชาชนเป็นผู้ปฏิบัติ/ยอมรับผลกระทบจากนโยบาย ซึ่งในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการวางแนวจัดการน้ำที่ดี ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายจะมีจำนวนมากที่สุด                ส่วนองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีบทบาทในการดำเนินนโยบาย โดยที่ผู้ที่กำหนดนโยบายก็คือ รัฐบาลและนักการเมือง  ถ้าหากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำยม ซึ่งเป็นจุดที่สามารถสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งถ้ารัฐบาลดำเนินโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนด นโยบายแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ถ้าเป็นเช่นนั้นอาจจะทำให้ประชาชนบริเวณพื้นที่สร้างเขื่อนจะได้รับผลกระทบซึ่งอาจจะขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน
2.             มุมมองตัวแบบสถาบัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แบ่งเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ได้แก่ รัฐสภา ฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล และฝ่ายตุลาการ ได้แก่ ผู้พิพากษา ศาล ซึ่งในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และการวางแนวจัดการน้ำที่ดี จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายขึ้นเป็นกฎหมาย โดยฝ่ายบริหารจะเป็นผู้กำหนดนโยบายขึ้น ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายหรือนโยบายนั้น เมื่อฝ่ายรัฐสภาแล้ว จึงจะสามารถนำไปกำหนดเป็นกฎหมายและนำไปปฏิบัติต่อไปได้ ส่วนฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมและพิจารณาข้อกฎหมายว่าขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปหรือไม่  ถ้าหากรัฐบาลต้องการดำเนินนโยบายสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำยม หรือเขื่อนแก่งเสือเต้น รัฐบาลจะต้องเสนอเข้าที่ประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อนำไปดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งสมาชิกรัฐสภา เป็นตัวแทนของประชาชนที่เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ และกำหนดนโยบายและกฎหมายต่างๆ แทนประชาชน ซึ่งถูกว่าประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทางอ้อม
3.             มุมมองตัวแบบกระบวนการ อธิบายว่า นโยบายเป็นกิจกรรมทางการเมือง ประกอบไปด้วยกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ซึ่งชุดของกิจกรรมดังกล่าวเน้นถึงความต่อเนื่อง  ทำให้การกำหนดนโยบายต้องเป็นเรื่องที่ใช้เหตุและผลในการกำหนดนโยบาย เช่น การมีอำนาจ ผลประโยชน์ การประนีประนอม การใช้ศิลปะเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังเช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ้าหากรัฐบาลจะดำเนินการสร้างเขื่อนหรือการย้ายเมืองเพื่อหนีน้ำท่วม จะต้องมีเหตุผลที่ดี มีความถูกต้อง และจะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย  รวมถึงเมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม ฝ่ายหนึ่งจะสร้างคันกั้นน้ำ แต่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับผลเสียเพิ่มขึ้น จนเข้าไปทำลายคันกั้นน้ำ ถ้ามีการเข้ามีเจรจา ตกลงกัน เพื่อยุติความขัดแย้ง ทุกอย่างก็จะไม่เกิดผลเสียหายเพิ่มมากขึ้น
4.             มุมมองตัวแบบระบบ อธิบายว่า นโยบายเป็นผลผลิตของระบบการเมือง ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า คือ ข้อเรียกร้องและข้อสนับสนุน กระบวนการตัดสินใจ และสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวกำหนดความเป็นไปได้ในขณะนั้น เช่น สภาพการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ถ้าหากรัฐบาลดำเนินนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งดำเนินการตามข้อสนับสนุนจากนักวิชาการ และข้อเรียกร้องหรือความต้องการของประชาชน เช่น ข้อเสนอจากนักวิชาการที่แนะนำให้มีการย้ายเมืองหลวงใหม่  เมื่อรัฐบาลนำข้อเรียกร้องและข้อสนับสนุนดังกล่าว เมื่อผ่านกระบวนการพิจารณาจากฝ่ายการเมืองแล้ว กลายมาเป็นแนวทางกำหนดเป็นนโยบายในการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่  ทำให้ได้ผลผลิตคือ นโยบายการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ซึ่งเป็นการตัดสินใจจากฝ่ายการเมือง ซึ่งทำให้มีข้อมูลป้อนกลับไปยังผู้ที่เสนอแนวทางและผู้เรียกร้องให้เกิดการย้ายเมืองหลวงอีกครั้ง ถือว่าเป็นการกระทำตามความต้องการของประชาชน
5.             มุมมองตัวแบบกระแสและหน้าต่าง อธิบายว่า นโยบายเกิดขึ้นมาจากการมาบรรจบกันของ 3 เงื่อนไข คือ กระแสเกี่ยวกับประเด็นปัญหา กระแสเกี่ยวกับนโยบาย และกระแสเกี่ยวกับการเมือง กล่าวคือ ถ้าสังคมให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วม พร้อมทั้งต้องการผลักดันให้เป็นนโยบายในการแก้ไขปัญหา โดยมีฝ่ายการเมืองเข้ามาสนับสนุน ตัวอย่างเช่น นโยบายเกี่ยวกับการสร้างแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถ้ามีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนโยบายนี้ได้ดำเนินการมาก่อนที่จะเกิดปัญหาน้ำท่วม เมื่อปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นพอดี นโยบายนี้ก็จะไปสอดรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที
6.             มุมมองตัวแบบกลุ่ม อธิบายว่า นโยบายเป็นผลมาจากการสร้างดุลยภาพของกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นการต่อรองกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการได้รับประโยชน์จากนโยบาย การตัดสินใจจึงเป็นเรื่องที่อยู่ภายใต้การประนีประนอมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งสามารถนำปัญหาน้ำท่วมมาวิเคราะห์ได้ ดังนี้ การแก้ไขและเยี่ยวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม กลุ่มนักการเมืองก็มักจะเข้ามาเจรจาต่อรองเพื่อนำเงินงบประมาณไปลงในเขตรับผิดชอบของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่นักการเมืองมักจะตกลงกันได้ก็ต่อเมื่อ มีผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายพอใจ หรือที่เรียกว่า เกิดจุดดุลยภาพ ดังนั้น ตามตัวแบบนี้ นักการเมืองมักจะไม่คำนึงถึงความต้องการและปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่จะคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับเท่านั้น
จากการอธิบายทั้ง 6 ตัวแบบ สามารถนำมาเป็นแนวทางในการวิเคราะห์นโยบายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยได้  ซึ่งแต่ละตัวแบบจะมีข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว  ถ้าหากรัฐบาลเลือกนำตัวแบบที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน การนำนโยบายไปปฏิบัติก็จึงสามารถนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ปัญหาน้ำท่วมประเทศไทย 2554 เป็นปัญหาใหญ่ที่คนไทยทุกคนต้องเผชิญด้วยกัน ถ้าหากผู้นำหรือรัฐบาลสามารถบริหารประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหา ไม่ควรเลือกข้างเลือกสี ไม่ควรทะเลาะหรือขัดแย้งกันแล้ว ควรหันหน้าคุยกัน แล้วร่วมกันฟันฝ่าวิกฤตให้ผ่านพ้นไปให้ได้โดยเร็วที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น