วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์นำไทย ก้าวไกลในอาเซียน

                    ถ้าเราหลับตามองย้อนอดีต จะเห็นได้ว่า มนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มนุษย์มีความชาญฉลาด จนกระทั่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มนุษย์มีการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรซึ่งกันแล้วกัน ทำให้มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมนุษย์ได้หันมารวมกลุ่มกันมากขึ้น เพื่อใช้ในการต่อรองทางเศรษฐกิจ ดังเช่น กลุ่มประเทศยุโรปรวมตัวกันเป็น กลุ่มประเทศ EU เพื่อใช้อำนาจในการต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ทั้งหลายเหล่านี้เป็นไปตามทฤษฎีความอยู่รอดของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาถูกลดบทบาทลงอย่างมาก เพราะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เข้ามามีบทบาทในการต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน และแหล่งเงินทุน
                   หากเราหันกลับมามองประเทศไทย ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่เล็กมาก แต่ถ้าหากเรารวมกับ ประเทศเล็กหลายประเทศ อย่างเช่นที่เรากำลังจะเป็นประชาคมอาเซียนนี้ เราก็สามารถรวมตัวกันเพิ่มมากขึ้น มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งสามารถเข้าไปต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้ ลำพังประเทศไทยประเทศเดียวยังมีระบบเศรษฐกิจที่เล็กมากคงไม่สามารถไปต่อรองกับต่างประเทศได้  ดังนั้นการประชุมที่อินโดนีเซียจึงให้ความสนใจในการรวมตัวกันเป็นตลาดเศรษฐกิจแห่งเดียวกัน จนกระทั่งกลายเป็นประชาคมอาเซียน เป็นฐานผลิตเดียวกัน จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ทั้ง 5 สาขา คือ (1) เคลื่อนย้ายการลงทุน (2) เคลื่อนย้ายการค้าขายสินค้า (3) เคลื่อนย้ายการบริการ (4) เคลื่อนย้ายแหล่งเงินทุน (5) เคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558
                   ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศ EU หรือประเทศสหรัฐอเมริกาได้นั้น เราจะต้องปรับตัวและเสริมสร้างระบบการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยี พลังงาน การเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคกันนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะประเทศต่างๆ ยังมีช่องว่างทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันมาก  แต่อาเซียนจะอยู่เพียงลำพังไม่ได้จะต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศ จะต้องมีการบูรณาการกับระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดอาเซียน+3 และอาเซียน+6 เมื่อมีอาเซียน+6 จะทำให้มีประชากรรวมกันถึง 3,000 ล้านคน มี GDP รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของโลก
                    จะเห็นได้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เป็นทำเลที่มีความเหมาะสมที่สามารถเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ในอาเซียน ทั้งทางบกและทางอากาศ เช่น รถไฟ และรถยนต์  เส้นทางรถไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในแถบประเทศอินโดจีน รวมทั้งเส้นทางรถไฟสามารถไปยังประเทศจีนทางตอนใต้ได้ ส่วนฝั่งตะวันออกสามารถเชื่อมโยงไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเข้าสู่ประเทศเวียดนามทางตอนใต้ได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสมและเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ ทำให้มีการวางระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ เส้นทางรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไปยังประเทศต่างๆ ได้ เช่น จากกรุงเทพฯ ผ่านนครราชสีมา หนองคาย เข้าสู่ประเทศลาว ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 แล้วไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีนได้ ดังนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะผลิตสินค้าการลงทุนการพาณิชย์ที่สำคัญ ในอนาคตจะมีการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เกษตรกรสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เนื่องจากมีอัตราภาษีที่เป็นศูนย์ ไม่มีการเก็บภาษีในกลุ่มประเทศอาเซียน ผู้ประกอบการมีการปรับโครงสร้างในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นักธุรกิจก็สามารถสร้างเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นกับผู้ประกอบการในอาเซียนได้
                    ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและถูกลง สามารถจัดตั้งธุรกิจในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ เทคโนโลยี ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งโลจิสติกส์ มีตลาดส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกสินค้าของไทยนั้น ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมากที่สุด  ทำให้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับปรุงกลไกเพื่อความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรม มีการปรับตัว ความรู้ความเข้าใจ ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยง และการใช้ประโยชน์สูงสุด สิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญที่จะทำให้เราเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
                    กลุ่มประเทศอาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่ก่อตั้งอาเซียน และกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ทั้ง 10 ประเทศนี้ มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน แต่จะมีความแตกต่างมากกว่า เช่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา  ส่วนความเหมือนก็จะมีเฉพาะบางวัฒนธรรมเท่านั้น ประวัติศาสตร์ของไทยมักจะกล่าวถึงการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
                   การที่เราจะรุกหรือรับอาเซียนนั้น เราจะต้องลืมประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกัน เราจะต้องมีความปรองดอง มีความเป็นมิตรกันก่อนที่จะทำการค้าระหว่างประเทศได้ เศรษฐกิจของทุกประเทศต่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อตลาดทุนของแต่ละประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศขนาดเล็ก อย่างเช่น กรีซ ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการรวมตัวของอาเซียนเพื่อที่จะทำให้กลุ่มประเทศในอาเซียนมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันสามารถเปิดตลาดการลงทุนได้เพิ่มขึ้น กลุ่มประเทศอาเซียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในการสื่อสารภาษาอังกฤษอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยยังด้อยกว่าประเทศเหล่านี้อยู่พอสมควร แต่ถ้าเปรียบเทียบเรื่องเทคโนโลยีแล้ว สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ถือว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ส่วนระบบขนส่งโลจิสติกส์ สิงคโปร์ถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด สำหรับประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบรถ ราง เรือ ซึ่งเป็นจุดสำคัญมากที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งโลจิสติกส์ ส่วนประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด ก็คือ พม่า และลาว ทรัพยากรต่างๆ ยังถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก สามารถเอื้อประโยชน์ให้ไทยในฐานะเป็นเมืองอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านการโรงแรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งสิงคโปร์ก็เป็นผู้นำศูนย์กลางทางการเงิน และศูนย์กลางการค้าทางเรือ
                  ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กำหนดว่า ประชาคมอาเซียนจะต้องมี 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง และสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนมีตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีหลักในการลงทุน 3 หลัก คือ (1) การลงทุนเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ (2) การลงทุนเพื่อแสวงหาทรัพยากร (3) การลงทุนเพื่อแสวงหาความรู้ ทั้ง 3 หลักนี้มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมาก เช่น การเข้าไปแสวงหาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นการตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานที่มีฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน ถ้าหากการลงทุนลักษณะนี้ มีการลงทุนเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนอาจจะทำให้ตลาดมีขนาดเล็กเกินไป แต่เมื่อมีการรวมตัวของประเทศอาเซียนกับประเทศใกล้เคียง หรือที่เรียกว่า อาเซียน+6 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจาก FTA หรือเขตการค้าเสรี ทำให้เกิดขึ้นตกลงในการค้าระหว่างประเทศที่มีอัตราภาษีที่เป็นศูนย์
                  ถ้ามองภาพรวมอาเซียนอาจจะถูกมองว่าเป็นตลาดล่างผสมกับตลาดบน เมื่อตลาดเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและคุณภาพไม่ดี โอกาสเป็นของผู้ประกอบการทุกกลุ่มที่ต้องแย่งชิงกลไกการตลาด อาเซียนมีการขยายการค้าการลงทุน จะพบว่าตลาดในอาเซียนนั้นมีความท้าทาย ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศที่สามารถแข่งขันกันได้ดี ตลาดการส่งออกอาเซียนโตขึ้นเป็น ๒ เท่า คนในอาเซียนเริ่มที่รับรู้การเป็นตลาดเสรีมากขึ้น ใน ๑๐ ประเทศอาเซียน ประเทศที่มีการตื่นตัวมากที่สุด คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียนมากที่สุด คือ น้ำมันสำเร็จรูป ที่ส่งออกไปยังลาวและกัมพูชา และมีการส่งออกรถยนต์มากที่สุดในอาเซียน รวมทั้งมีการส่งออกเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน
                 ประเทศไทยมีเครือข่ายอุตสาหกรรมส่งออกเครื่องจักรกล เป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่น ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตเครื่องจักรกล เมื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงมีฐานผลิตอยู่ในประเทศไทย อุตสาหกรรมย่อยที่มีความเกี่ยวเนื่องกันก็ยังคงอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน การเปิดเสรีทางการค้านั้น สินค้าไทยมีความได้เปรียบทางด้านสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าเกษตรประเทศไทยมีความได้เปรียบ เฉพาะ ข้าวโพด ยางพารา ส่วนมันสำปะหลังนั้นไทยยังคงมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่ไทยมีความเสียเปรียบ เพราะอินโดนีเซียกับมาเลเซียสามารถครองตลาดน้ำมันปาล์มโลก สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือการแข่งขันที่มีความรุนแรงขึ้น
                  ถึงแม้ว่าภาษีจะเป็นศูนย์ แต่ยังคงมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่ยังคงเป็นอุปสรรคในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเสรีทางด้านการบริการ ทางด้านการบิน ประเทศไทยนั้นมีความเข้มแข็งเพราะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไทยมีจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว การบิน รวมทั้งมีการบริการทางด้านการแพทย์คุณภาพสูงแต่ราคาต่ำ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่นอยู่มาก แต่สิ่งที่ต้องมีการพัฒนาคือ ระบบโทรคมนาคมที่ประเทศไทยยังคงล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก การเปิดเสรีทางด้านการลงทุน จะมีนักลงทุนในอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น การลงทุนถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจไทยสามารถเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นักลงทุนรายย่อย (SMEs) ของไทยที่มีจำนวนมาก เป็นเรื่องกังวลที่ไทยยังคงมีความเสียเปรียบ จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้มากขึ้น การเปิดเสรีด้านการลงทุนเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยในบางอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็ง สามารถเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียนได้ อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่มาก มีผลผลิตจำนวนมากพอสมควร แต่ปัญหาคือไม่มีการเพิ่มผลิตภาพ ทำให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐจึงต้องมีการศึกษาเมล็ดพันธุ์ ภาคเอกชนต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาช่วยในการเพิ่มผลผลิต
                 การลงทุนจะมีการพัฒนาตลาดทุน มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่อาจจะได้รับผลกระทบในช่วงที่ประเทศนั้นประสบกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วต่างชาติจะนำเงินที่ลงทุนออกจากประเทศนั้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องมีกลไกหรือมาตรการในกาควบคุมดูแลให้เงินทุนเหล่านั้นยังคงอยู่ในประเทศ เราจะต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง เพื่อพร้อมที่จะเผชิญกับผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตส่วนการเปิดเสรีทางด้านแรงงาน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและแรงงานไม่มีฝีมือ เป็นปัญหาใหญ่มากที่ประเทศไทยประสบอยู่ เพราะขาดแคลนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงต้องมีการอาศัยแรงงานต่างชาติ ทำให้จะต้องมีการพัฒนาทักษะและยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะแรงงานอาชีวศึกษาที่ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มาก รัฐบาลต้องให้ความสนใจผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จะต้องมีการปรับตัว มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพาะสินค้าใดที่มีต้นทุนต่ำกว่า สินค้านั้นจะมีโอกาสขายได้ง่ายกว่า ต้องคำนึงว่าสินค้าไทยยังคงมีราคาสูงกว่าสินค้าของประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องพยายามหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านต้นทุน โดยเราควรหันไปมองกลุ่มประเทศ CLMV กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถเข้าไปลงทุน มีการเปิดธุรกิจใหม่ๆ และมีการจ้างแรงงานจากประเทศเหล่านี้
                  นอกจากนี้จะต้องศึกษารสนิยมของตลาดอาเซียน มีการปรับแผนเพิ่มกลยุทธ์ในการรุกตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ต้องมีการลงทน มีการพัฒนาแหล่งเงินทุนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว การลงทุนในต่างประเทศจะต้องมีเพื่อนหรือที่ปรึกษาอยู่ในประเทศเหล่านั้นด้วย เพื่อความสะดวกในการขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย การลงทุน และการค้า
                  หน้าที่ของรัฐคือ ต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ มีการเตรียมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีการปรับปรุงระบบขนส่งที่สามารถคมนาคมได้รวดเร็วมากขึ้น จะต้องมีการส่งเสริมในการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ระบบขนส่ง และระบบโทรคมนาคม สิ่งสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจศึกษาข้อมูลของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และศึกษาข้อมูลพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้รับยังต้องเข้ามามีบทบาท ดังเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ มีการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพให้ดีขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก ยานยนต์ การเกษตร อาหาร และสิ่งทอ ให้มีการตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมพื้นบ้าน พยายามบูรณาการกับมหาวิทยาลัยให้มีการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการประชาสัมพันธ์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้ประชาชนรับทราบ
                  ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ  เลขาธิการอาเซียน กล่าวในหัวข้อ “โอกาส ประเทศไทย ในเวทีอาเซียน” กล่าวว่า“ถนนสู่อาเซียน ศักยภาพทางการค้า สู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม เมือง นำมาซึ่งประโยชน์อันมหาศาลต่อภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุน” สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยคือจุดกำเนิดของอาเซียน ถือว่าเป็นมรดกทางการทูตที่นักการทูตไทยมอบให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราควรตระหนักว่าไทยคือผู้ที่คิดค้นหรือให้กำเนิดอาเซียน  ประเทศไทยควรจะเตรียมความพร้อมและตระหนักถึงผลประโยชน์ของอาเซียน ซึ่งในวันนี้เราจะเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการใช้ภาษาของอาเซียน เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าสู่อาเซียนนั้นคือการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ตลาดของประเทศไทยจะขยายขึ้น 10 เท่า ตลาดจะมีการขยายกำลังซื้อเพิ่มขึ้นออกไปอีก 9 ระบบเศรษฐกิจ ขณะนี้เอเชียตะวันออกกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีพลวัตมากที่สุด อาเซียนจึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีประเทศไทยที่อยู่กึ่งกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่เพียงพอต่อการเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในอนาคต
                 แต่เราจะมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่เราเช่นกัน ถ้าเรายังไม่มีความพร้อม เราก็ไม่สามารถไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และไม่สามารถเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากศักยภาพที่เรามีอยู่ได้ ดังนั้น AEC จะเป็นสิ่งที่เราจะได้ยินและคุ้นเคยมากขึ้นนับจากนี้ ทำให้มีการกำหนด 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนขึ้น คือ การเมืองและความมั่นคง การที่เราจะอยู่ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ สิ่งแรกที่เราจะทำได้ก็คือ อย่าทำสงคราม อย่าสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค และอย่าสร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะอาจจะสร้างความกังวลใจของประชาคมโลกได้ ต่างชาติจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนในอาเซียน การค้าระหว่างประเทศก็ไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเข้ามาเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นสิ่งแรกคือ อาเซียนจะต้องมีความเรียบร้อย มีความมั่นใจ และมีความไว้วางใจระหว่างกัน เราจะต้องมีการพูดถึงปัญหาเรื่องเขตแดน ปัญหาชายแดน เพื่อหาแนวทางในการลดความขัดแย้งภายในภูมิภาค
                 สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ ก็คือ AEC: ASEAN Economic Community หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะเป็นสิ่งที่กระทบกับการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ กระทบกับตำแหน่งงาน การจ้างงาน การปรับโครงสร้างทางด้านอุตสาหกรรม การปรับตัวทางธุรกิจ กระทบกับการลงทุน การส่งออก ตลาดการลงทุน การบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
                  อาเซียนคือการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก เพราะทั่วโลกพูดถึงเขตการค้าเสรี อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรการค้าโลก โลกจะเปิดเข้าหากันมากขึ้น โลกจะเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน มีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ อาเซียนคือ กลไกที่ปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น อาเซียนเป็นสิ่งที่ให้ประเทศสมาชิกปรับตัวเข้าสู่ประชาคมโลกที่เป็นตลาดเสรีมากขึ้น ดังนั้นต้องมองดูว่า อาเซียนสามารถกำหนดเงื่อนไข หลักการ และกลไกอย่างไรบ้าง ที่จะพยายามไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวสู่ประชาคมอาเซียน
                   ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวและเตรียมตัวเรื่องความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เรื่องการศึกษาการผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อที่จะออกสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้น การทำกิจกรรมทางการค้าจะต้องทำโดยยุทธศาสตร์ของภาษาอาเซียน ความสามารถในการแข่งขันประเทศไทยมีความพร้อมระดับใด ไทยก็จะต้องมีการปรับตัวให้เร็วขึ้น ปัญหาคือเราจะสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้หรือไม่
                   ถ้าเรามองความพร้อม มองยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีเรื่องการศึกษา ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะว่า ระบบการศึกษามีจำนวนคนมาก หลายระดับ และทักษะความพร้อมความรู้ไม่เท่ากัน ทรัพยากรในด้านการศึกษา รวมทั้ง ระบบการศึกษา เทคโนโลยีทางการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการค้นคว้า การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความสนใจและทุ่มเทงบประมาณเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สินค้า และผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ส่วนประเทศไทยนั้นยังขาดสิ่งเหล่านี้อยู่มาก ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเพิ่มงบประมาณงบประมาณ และให้ความสนใจในการเพิ่มจำนวนของการค้นคว้า การวิจัย และการพัฒนา
                   สิ่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย คือ ยังติดอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง เพราะปัจจุบันเรายังคงนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ยังไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้ ทำให้การค้าระหว่างอาเซียนกับโลกคิดเป็นเพียง ร้อยละ 25 ของการค้าโลก ถ้าหากต้องการเป็นประชาคมอาเซียนจะต้องมีการค้าระหว่างประเทศถึง ร้อยละ 50 ของการค้าโลก สำหรับประเทศไทยมีเพียงบางบริษัทที่ก้าวขึ้นสู่การค้าระหว่างประเทศที่แท้จริง เช่น บริษัทSCG บริษัทCPF บริษัทPTT เป็นต้น สามารถเข้าไปเจาะตลาดในหลายประเทศ สิ่งที่ระบบเศรษฐกิจของไทยที่ต้องทำคือ จะต้องส่งเสริม ธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากถึง 80% ของระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาของธุรกิจ SMEs คือไม่มีคนอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นทุกประเทศ ไม่มีทุนที่มากพอที่จะสำรวจตลาดและหาผู้ร่วมลงทุน ไม่มีฝ่ายขาย ฝ่ายวิเคราะห์ และฝ่ายวิจัย ที่มีความสามารถเพียงพอที่จะทุ่มเทให้กับการทำงานในธุรกิจ SMEs แต่องค์กรการค้าขนาดใหญ่ ธนาคารขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดใหญ่ เขามีทีมงานเหล่านี้ที่มีคุณภาพ ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์จากกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของอาเซียนได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มธุรกิจ SMEs ในตลาดอาเซียนต้องมีจำนวนมาก เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญธุรกิจการธนาคารต่างๆ และรัฐบาลต้องช่วยกันคิด เพื่อหาแนวทางในการสร้างความได้เปรียบทางการค้า
                   ความสามรถในการแข่งขัน จะต้องมีการเข้าถึงกองทุนเงินทุนเข้าสู่อาเซียน และจะต้องมีการติดต่อสื่อสารกับประเทศอื่นให้เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่าย บุคลากรที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น มีประสบการณ์ และมีการเตรียมตัวที่ดีพอที่จะออกสู่ตลาดอาเซียน ตลาดอาเซียนเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถบุคลากรของประเทศไทย สิ่งที่ต้องทำคือ รวมตัวบุคคลที่มีความสามารถเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากประเทศไทยนั้นหาได้ยากมาก
                   ทัศนคติของคนไทยและธุรกิจไทยต้องทำการศึกษาประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง เพราะเขามีการสร้างฐานการผลิตขึ้นในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล แต่นิสัยของคนไทยยังคงยึดติดกับความสะดวกสบาย ทำให้ธุรกิจไทยยังมีประสบการณ์น้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้นคนไทยจะต้องเปลี่ยนทัศนคติ จะต้องออกไปแสวงหาผลประโยชน์ในต่างประเทศ แต่ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของประเทศเหล่านั้นด้วย ถึงแม้จะเป็นสิ่งแปลกใหม่ของคนไทย แต่เราก็ต้องทำให้ได้ เพราะสถานการณ์โลกปัจจุบันบีบบังคับให้เราต้องทำอย่างนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราจะต้องมีความเข้าใจกฎบัตรอาเซียนเสียก่อน เพราะเป็นเสมือนกฎหมาย/ข้อบังคับของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังต้องมีการติดต่อ ประสานงานกับคนอื่นให้มีความเข้าใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศมีความเท่าเทียมกัน ในการที่จะก้าวขึ้นเป็นพลเมืองของอาเซียน ดังนั้นรับบาลจะต้องมีการทุ่มเททางด้านการศึกษาและทักษะทางภาษาให้แก่เยาวชนอายุระหว่าง 3 – 10 ปี
                   นับจากนี้เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้ได้โดยเร็วที่สุด ต้องมีการขยับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในอาเซียนได้นั้น จะต้องมีความพร้อมในสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องพร้อมในการแข่งขัน มีการจัดระบบองคาพยพ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศ มีบุคลากรที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ เสาหลักเรื่องสังคมและวัฒนธรรม คือเสาหลักที่ทำให้คนในอาเซียนรู้จักความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ดังนั้นเราจะต้องใช้ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เราสามารถผูกโยงกับต่างประเทศได้อย่างสง่างาม ทำให้เสาหลักนี้เป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของคนในอาเซียนให้ได้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องมีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องไม่มีการปิดบังข้อมูลที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อส่วนรวมในอาเซียน มีการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในอาเซียน ร่วมคิดร่วมทำและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศสมาชิก
                   การเกิดขึ้นของอาเซียนเริ่มก่อตัวจากประเทศเล็กๆ ที่มาร่วมตัวกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการก่อตั้งกองทุนอาเซียน เพื่อใช้ในยามจำเป็น หรือใช้ในช่วงที่เกิดปัญหาทางวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ อาเซียนได้ทำเพื่อประชาชนทั้ง 600 ล้านคน เพื่อประโยชน์ของทั้ง 10 ประเทศ ทำให้เรามีโอกาสมากขึ้น ดังนั้นพวกเราต้องตื่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นผู้พิพากษาหรือคอยเตือนให้เรามีความพร้อม แต่เราจะต้องมีความพร้อมและเตรียมพร้อมในทุกด้าน เพื่อได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนให้มากที่สุด แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราจะต้องมีการพึ่งพาตนเองให้ได้ ดังคำสุภาษิตไทยที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”