วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เทคนิคการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์

แก้ ปัญหาเกี่ยวกับ         การได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานวิจัยเชิงคุณภาพ กรณีการจัดเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เพื่อความถูกต้องและ เป็นเรื่องง่าย

ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานวิจัยตั้งแต่สมัยกำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา เนื่องจากมีการเขียนผลงานทางวิชาการมาหลายฉบับ แต่ก็ยังประสบปัญหาเกี่ยวกับงานวิจัยอยู่พอสมควร กล่าวคือ คำว่า วิจัยเป็นคำที่ใหญ่ และ แสลงใจเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน และวุ่นวาย ซึ่งเชื่อว่าหลายคนที่กำลังจะเข้าสู่กระบวนการวิจัย ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในห้องเรียน งานวิจัยชุมชน หรือแม้กระทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อทำผลงานทางวิชาการ ทุกคนต่างก็กลัวงานวิจัยมากเช่นกัน ไม่กล้าทำ ไม่กล้าคิด และไม่กล้าลงมือปฏิบัติ  อาจเป็นผลมาจาก บุคคลเหล่านั้นไม่คุ้นชินกับวิธีทางการวิจัย โดยเฉพาะคำศัพท์ทางการวิจัย เช่น ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพ และการไม่เข้าใจความหมายของคำที่ลึกซึ้ง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของความกลัวการวิจัยก็อาจเป็นไปได้  แม้กระทั่งคำสองคำที่เราคุ้ยเคย คือคำว่า วิจัยเชิงปริมาณ และ วิจัยเชิงคุณภาพ” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ผู้เขียนรับผิดชอบงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ถือว่าเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยให้ก้าวสู่การเป็น Smart College จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเขียนงานวิจัยได้เลย ซึ่งผู้เขียนได้เข้ารับการฝึกอบรมการเขียนรายงานวิจัย เพื่อพัฒนาทักษะในการเขียนงานวิจัย และเข้าร่วมเป็นคณะศึกษาวิจัยรูปแบบการทำงานพัฒนาชุมชนในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง แต่สถานการณ์ที่ผ่านมา พบว่า นักวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเขียนรายงานวิจัยได้อย่างถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย ความเข้าใจที่ถูกต้องในการจัดเก็บข้อมูลวิจัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานวิจัยยังมีความไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เอกสารงานวิจัยที่ผ่านมายังขาดความสมบูรณ์อีกมาก รวมทั้งยังไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างได้แท้จริง ดังนั้นผู้เขียนมีประสบการณ์ในการสัมภาษณ์เพื่อศึกษาวิจัย ทำให้พบปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย จึงขอนำเสนอความรู้เรื่อง เทคนิคการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสัมภาษณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญให้บุคลากรของกรมการพัฒนาชุมชนทุกระดับได้นำไปปรับใช้ภายใต้บริบทที่แตกต่างกัน โดยมีเทคนิค วิธีการ และปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังนี้
           การสัมภาษณ์เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการนำมาใช้บ่อยในการวิจัย โดยทั่วไปการสัมภาษณ์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง ในที่นี้เน้นในส่วนของการสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่มีการใช้บ่อยในการวิจัยเชิงคุณภาพ เพราะเป็นการสัมภาษณ์ที่ต้องการข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นการสัมภาษณ์แบบเปิดกว้าง ไม่มีการกำหนดประเด็นคำถามตายตัว และไม่จำกัดคำตอบ บางครั้งจึงเรียกว่า การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ เนื่องจากเป็นการสัมภาษณ์ที่มีความยืดหยุ่นสูง มีอิสระในการตั้งประเด็นคำถาม สามารถเจาะลึกเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีรายละเอียดดีที่สุด ทั้งนั้นความพึงพอใจต่อข้อมูลที่ได้ก็ขึ้นอยู่กับนักวิจัยว่าต้องการข้อมูลมากน้อยเพียงใด
การ เก็บข้อมูลงานวิจัยด้วยวิธีการสัมภาษณ์นั้น นักวิจัยต้องเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างตั้งใจ มีพฤติกรรมตอบสนองต่อคำพูดของผู้ถูกสัมภาษณ์ในเชิงกระตุ้นให้พูดต่อ หากยังไม่ได้ข้อมูลตรงประเด็นที่ต้องการให้ใช้ความเงียบเป็นสิ่งกระตุ้น เพื่อให้ได้คำตอบ ในกรณีเรื่องที่กำลังสนทนาเป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ และผู้ให้แสดงอารมณ์ เช่น ร้องไห้ เสียใจ นักวิจัยควรประคับประคองอารมณ์ด้วยการแสดงความเข้าใจและปลอบโยน แต่ต้องระมัดระวังที่จะไม่ให้แสดงบทบาทข้ามไปสู่การเป็นผู้แก้ปัญหาทาง อารมณ์ เพราะอาจจะทำให้สัมพันธภาพเปลี่ยนไปได้ นักวิจัยต้องแสดงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดในการสัมภาษณ์ โดยหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของนักวิจัยต่อประเด็นที่กำลังสนทนา  เพศ วัย และภูมิหลังของนักวิจัยมีผลต่อการสัมภาษณ์ ในกรณีประเด็นที่สัมภาษณ์เป็นเรื่องค่านิยมทั่วไป หรือเหตุการณ์ในอดีตที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เฉพาะตัว เพศ วัย และภูมิหลังของนักวิจัยไม่มีผลต่อการสัมภาษณ์เท่าใดนัก แต่ในกรณีที่เป็นเรื่องเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม โดยเฉพาะเรื่องที่สังคมยังไม่ให้การยอมรับ กรณีนี้ เพศ วัย และภูมิหลังของนักวิจัยจะมีผลต่อการสัมภาษณ์มาก ดังนั้นนักวิจัยต้องพิจารณาว่าประเด็นสัมภาษณ์คืออะไร ควรใช้นักวิจัยแบบใด เพศใดไปสัมภาษณ์ นอกจากนี้การสัมภาษณ์ที่ได้รับการร่วมมืออย่างดีนั้น ผู้ถูกสัมภาษณ์ต้องยินดีสนทนาด้วยและทราบว่าข้อมูลนั้นเป็นประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลร้ายต่อผู้ถูกสัมภาษณ์เอง ดังนั้นนักวิจัยต้องยืนยันถึงสิ่งเหล้านี้ด้วยการแจ้งวัตถุประสงค์และเป้า หมายของการวิจัยให้ชัดเจน โดยแสดงความน่าเชื่อถือว่าข้อมูลจะถูกเก็บเป็นความลับ และมีการยืนยันถึงความยินดีในการให้ข้อมูล และการบันทึกเสียงด้วยการแสดงความยินยอม อาจจะใช้การขออนุญาตด้วยวาจา หรือลายลักษณ์อักษร แล้วแต่ความเหมาะสมของสถานการณ์นั้นๆ
  ใน การสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพไม่ได้มีขั้นตอนที่ เป็นสูตรสำเร็จที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแต่ประการใด นอกจากนั้นนักวิจัยแต่ละท่านอาจจะมีวิธีการเริ่มต้นเป็นขั้นตอนที่แตกต่าง กันก็ได้ ขั้นตอนในการสัมภาษณ์ในที่นี้จึงเป็นการนำมาเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณา ดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี การสัมภาษณ์ทุกครั้งจึงต้องมีจุดมุ่งหมายชัดเจน นักวิจัยและผู้ถูกสัมภาษณ์จะต้องมีสัมพันธภาพที่ดี จึงคาดหวังได้ว่าจะได้คำตอบที่เป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด ดังนั้นผู้เขียนขอนำเสนอ ขั้นตอนในการสัมภาษณ์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย
   . ขั้นการเตรียมความพร้อม หลังจากที่นักวิจัยทราบแล้วว่า งานวิจัยครั้งนี้ต้องการศึกษาอะไร จากผู้ใด นักวิจัยจะเริ่มเข้าใจชัดเจนแล้วว่า ผู้ที่นักวิจัยจะต้องไปสัมภาษณ์นั้นคือใครบ้าง และต้องการจะรู้เรื่องราวประเภทใดบ้าง จะต้องมีการจัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น สมุดบันทึก ปากกา เครื่องบันทึกเสียง กล้องบันทึกภาพ และอื่นๆที่จำเป็น หากมีผู้ช่วยนักวิจัยจะต้องมีการซักซ้อมคำถามผ่านการฝึกทำบทบาทสมมติ เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนการสัมภาษณ์ด้วย  สิ่งที่สำคัญของนักวิจัย คือ ต้องเตรียมแนวทางการสัมภาษณ์ ซึ่งเน้นประเด็นสำคัญ และเป็นคำถามปลายเปิดที่มุ่งเน้นผู้ถูกสัมภาษณ์อธิบายให้ความเห็น และเล่าถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นๆได้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่ควรยาวเกิน ๑ หน้ากระดาษ และขณะดำเนินการสัมภาษณ์จะมีเนื้อหาสาระอื่นๆ ที่ไม่มีอยู่ในแนวทางการสัมภาษณ์ แต่นักวิจัยเห็นว่ามีความสำคัญเกี่ยวเนื่องสามารถนำมาอธิบายความหมาย และทำความข้าใจในประเด็นที่ศึกษาได้ นักวิจัยควรดึงประเด็นเหล่านั้นขึ้นมาสนทนา และขอให้ผู้ถูกสัมภาษณ์อธิบายเพิ่มเติมได้ด้วย  โดยพื้นฐานที่สุดนักวิจัยจะต้องอ่อนไหวฉับไวในการรับรู้ และให้ความเคารพต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ ต้องหาแนวทางให้การสัมภาษณ์เป็นไปโดยบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย การลงมือสัมภาษณ์จริงอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ บ่อยครั้งที่นักวิจัยจะพบสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดการณ์เตรียมเอาไว้ บางครั้งประสบการณ์ที่สั่งสมไว้ของนักวิจัยจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้มีวิจารณญาณ การตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น
   . ขั้นการเลือกวิธีบันทึกข้อมูล การบันทึกข้อมูลเป็นสิ่งที่ดำเนินการโดยอุปกรณ์ประเภทต่างๆ การใช้เครื่องมือบันทึกข้อมูลก็เพื่อจะเก็บรายละเอียดให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ การใช้เทปบันทึกเสียงเรา อาจจะได้คำพูดแทบทุกคำ การใช้กล้องบันทึกภาพ เราจะได้ทั้งภาพและคำพูด แต่นักวิจัยควรมีการจดบันทึกขณะสัมภาษณ์ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาไว้อีกชั้นหนึ่ง ในกรณีที่เครื่องบันทึกเสียงเกิดความขัดข้องทางเทคนิค ในการจดบันทึกการสัมภาษณ์มีข้อเสนอแนะบางประการ เพื่อที่จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ได้อย่างมีคุณภาพที่สุด ดังนี้
          - การเริ่มจดบันทึกการสัมภาษณ์แต่ละราย ควรเริ่มต้นแต่ละกรณีที่หน้ากระดาษใหม่ทุกครั้ง โดยมีการระบุวันที่ เวลา และสถานที่ที่สัมภาษณ์
          - ในการจดให้นักวิจัยใช้ช่องไฟระหว่างบรรทัดห่างๆ เพื่อกันที่ไว้สำหรับแก้ไข เพิ่มเติมสิ่งที่  ตกหล่นไป รวมทั้งใช้การจดคำสั้นๆ ที่นักวิจัยสามารถเกิดความเข้าใจ
          - พยายามจดบันทึกให้เป็นรูปธรรม ครบถ้วนสมบูรณ์ และสามารถเข้าใจได้ง่ายที่สุด เท่าที่จะกระทำได้ และจดบันทึกคำพูดของผู้ถูกสัมภาษณ์และพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ลงไปด้วย
          - นักวิจัยไม่ควรจะสนทนาพูดคุยกับผู้อื่นหลังการสัมภาษณ์ จนกว่าจะบันทึกการสัมภาษณ์ เสร็จลง และอ่านทบทวนบันทึกที่จดเอาไว้ซ้ำๆบ่อยๆ เพื่อให้สามารถแตกความคิดออกมาเพิ่มเติมในภายหลังได้
. ขั้นดำเนินการสัมภาษณ์ นักวิจัยจะต้องพยายามสร้างสัมพันธภาพในการวิจัยกับผู้ถูกสัมภาษณ์ สร้างความไว้วางใจ และความสัมพันธ์อันดีต่อกันกับผู้ถูกสัมภาษณเริ่ม จากการแนะนำตนเอง ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ และชักชวนผู้ถูกสัมภาษณ์พูดคุย เพื่อทำให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกผ่อนคลายและทำให้เกิดบรรยากาศของความเป็นกัน เอง ในขณะดำเนินการนักวิจัยจะต้องทำตัวตามสบายและเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์รู้สึกเกร็งหรือหวาดระแวง ใช้ภาษาที่มีความเข้าใจตรงกันทั้ง ๒ ฝ่าย หรือใช้ภาษาถิ่นของผู้ถูกสัมภาษณ์ยิ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นกันเองและทำให้ การสนทนาเป็นไปอย่างราบรื่น  ในระหว่างการสัมภาษณ์ นักวิจัยต้องพยายามอธิบายให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง กับหัวข้อการวิจัย ควรถามทีละคำถาม โดยมีสาระการถามเพียงหนึ่งสาระในแต่ละคำถาม ต้องสื่อสารให้ผู้ถูกสัมภาษณ์เข้าใจว่า เรากำลังฟังอยู่อย่างตั้งใจ เช่น ประสานสายตา แสดงสีหน้าที่เหมาะสม พยักหน้า ถามย้ำเป็นระยะหรือเมื่อฟังไม่ถนัดหรือไม่ชัดเจน ให้ความเห็นสะท้อนในจังหวะที่เหมาะสม นอกจากนี้จะต้องใช้เวลาที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ให้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และจะต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลด้านความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และแบบแผนการดำเนินชีวิตเป็นพิเศษ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งต่อไป
. ขั้นกระบวนการเก็บข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ การสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มักจะไม่สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวนักวิจัยจะต้องมีการสัมภาษณ์มากกว่า ๒ ครั้ง ดังนั้นในการสิ้นสุดการสัมภาษณ์ในแต่ละครั้ง จะต้องมีการแสดงความขอบคุณแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ และเตรียมกรุยทางไว้สำหรับการพบปะในโอกาสต่อไปด้วย รวมทั้งอาจจะมีของที่ระลึกเพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ถูกสัมภาษณ์ หลังจากนี้นักวิจัยจะต้องมาสะท้อนข้อมูลหลังการสัมภาษณ์ว่า ข้อมูลเท่าที่สัมภาษณ์มานี้เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยครั้งนี้หรือไม่ จะต้องทำอะไรต่อไปเพื่อจะได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งขึ้น และสิ่งที่ผู้ถูกสัมภาษณ์บอกกับเรานั้นเป็นจริงเพียงใด เพื่อเป็นการทบทวน ข้อสันนิษฐานในการวิจัย ใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ข้อมูล และเป็นแนวทางแก้ไขการเก็บข้อมูลในครั้งต่อไป
เทคนิค ดังกล่าวข้างต้น เกิดจากผู้เขียนได้สั่งสมประสบการณ์ในการแสวงหาความรู้จากตำราต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการเขียนงานวิจัย ปัญหาอุปสรรคที่ได้รับจากการเก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่เป้าหมาย และจากการรับผิดชอบงานวิจัยของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี รวมทั้งผู้เขียนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะวิจัยในการศึกษาวิจัยของสถาบันการ พัฒนาชุมชน มีโอกาสในการเก็บข้อมูลวิจัยด้วยการสัมภาษณ์ จนทำให้เขียนรายงานวิจัย เป็นเอกสารวิจัยที่สมบูรณ์และสามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนได้ ดังนั้นเทคนิคทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่นักวิจัย เชิงคุณภาพ จะต้องฝึกฝน ทบทวน และนำไปใช้ปฏิบัติ เพื่อให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลงานวิจัยเชิงคุณภาพด้วยวิธี การสัมภาษณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  หากนักวิจัยรู้เทคนิคและหลักการก็จะช่วยให้การดำเนินการจัดเก็บข้อมูลวิจัย นั้นง่ายขึ้น ทำให้เปลี่ยนมุมมองของคำว่า วิจัยเป็นคำที่เล็ก และ ถูกใจเป็นเรื่องง่าย น่าสนใจ และสนุกสนานอีกด้วย 

ข้อมูลเกี่ยวกับผู้บันทึกองค์ความรู้
ชื่อเจ้าของความรู้         นายณัฐวุฒิ  เหมากระโทก   นักทรัพยากรบุคคล (พนักงานราชการ)
สถานที่ทำงาน             ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี  (ฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล)
ติดต่อได้ที่                  โทรศัพท์: ๐๘๐-๗๒๕๗๐๓๔     
E-mail:                     nattawutcdd@gmail.com
***ท่านสามารถดาวน์โหลดไฟล์เอกสารได้ที่ http://www.cddudonthani.com/site/2016-06-20-03-25-32/km-corner/download/2-km/29-km

เทคนิคการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกอบรม หลักสูตรผู้นำการพัฒนา



แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ  การได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการฝึกอบรมสำหรับหลักสูตรผู้นำการพัฒนา

ส่วนนำ
กรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ดำเนินการฝึกอบรมผู้นำชุมชน หลักสูตรผู้นำการพัฒนา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน  เพื่อให้ผู้นำได้พัฒนาศักยภาพและเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาชุมชน  โดยเน้นการสร้างผู้นำที่มีภาวะผู้นำ มีคุณธรรม/จริยธรรม ในการขับเคลื่อนงานในภาคประชาชน ขับเคลื่อนแผนชุมชน ตลอดจนงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ในชุมชน
ในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดรธานี ได้ดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หลักสูตรผู้นำการพัฒนา ประจำปี ๒๕๕๙ จำนวน ๑๗ รุ่น ผู้เขียนได้รับมอบหมายจากท่านเชิดทวี สูงสุมาลย์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล ให้เข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารโครงการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าว ถือว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญโครงการหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชน ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก และเป็นโครงการที่ผู้เขียนไม่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงการ รวมทั้งโครงการดังกล่าวทางกรมฯมีนโยบายให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ทำให้ในช่วงดำเนินโครงการในระยะแรก พบปัญหาหลายประการที่จะกระทบต่อการบริหารโครงการ เช่น
-          ระยะเวลาของการประชุมทีมวิทยากรมีน้อยมาก
-          การประสานงาน/การทำหนังสือแจ้งจังหวัดล่าช้า
-          ความกังวลเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจะไม่ครบตามตัวชี้วัดโครงการ
-          ระยะเวลาในการเตรียมสถานที่ในการฝึกอบรมมีน้อยมาก
-          การเตรียมอาคารหอพักยังไม่มีความพร้อม ๑๐๐ % เนื่องจากมีการใช้อาคารหอพักหลังใหม่
-          การจัดเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ในการฝึกอบรม
-          ปัญหาในปีที่ผ่านมา ผู้เข้าอบรมไม่รู้จักสถานที่ตั้งของศูนย์ศึกษาฯ ทำให้เดินทางมาถึงสถานที่อบรมไม่ทันกำหนดการลงทะเบียน/รายงานตัว
ส่วนขยาย
การฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนา จะประสบผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการเตรียมงานที่ดีเป็นสำคัญ จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการ ผู้เขียนขอนำเสนอ ปัจจัยความสำเร็จในการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนา  ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมจากประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน และการเรียนรู้จากหัวหน้าฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ท่านได้สอนแนะงานในด้านการบริหารโครงการฝึกอบรมดังกล่าว ซึ่งสามารถอธิบายถึงขั้นตอนที่นำมาปฏิบัติงานสำหรับการเตรียมงานก่อนการฝึกอบรม ซึ่งมีกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ ดังนี้
     . เมื่อได้รับการหนังสือสั่งการจากกรมฯเกี่ยวกับการดำเนินโครงการฝึกอบรม ให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาฯ เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินโครงการร่วมกัน
     . สถาบันการพัฒนาชุมชน มีการประชุมเตรียมความพร้อมทีมวิทยากรของแต่ละศูนย์ศึกษาฯ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาหลักสูตร และซักซ้อมทีมวิทยากรสอนในแต่ละรายวิชา
     . ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน จัดประชุมทีมงาน เพื่อกำหนดแผนการดำเนินงานฝึกอบรม โดยส่งรายละเอียดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงใด จำนวนรุ่นที่ได้รับจัดสรร และในแต่ละรุ่นจะฝึกอบรมจังหวัดอะไรก่อน-หลัง จากนั้นทำหนังสือแจ้งกลับไปยังสถาบันการพัฒนาชุมชน เพื่อกรมฯทำหนังสือสั่งการมายังจังหวัดอีกครั้ง
     . ประชุมทีมวิทยากรกำหนดตารางการฝึกอบรม และปรับหลักสูตรให้มีความเหมาะสม มีการจัดเรียงลำดับหัวข้อวิชา พิจารณาจัดตามวัตถุประสงค์ของหัวข้อวิชา ความยากง่ายของหัวข้อวิชา และหลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่  จากนั้นจัดทำหนังสือประสานไปยังจังหวัดในพื้นที่บริการของศูนย์ศึกษาฯ ๘ จังหวัด ให้จังหวัดแจ้งกลุ่มเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมสำหรับการฝึกอบรม โดยในหนังสือให้ระบุสิ่งที่ผู้นำชุมชนต้องเตรียมติดตัวมาด้วย เช่น เสื้อผ้าสวมใส่สำหรับ ๓ วัน ๒ คืน ชุดออกกำลังกาย ยารักษาโรค ระบุวัน/เวลาที่ดำเนินการฝึกอบรมให้ชัดเจน มีตารางฝึกอบรมแยกเป็นรายวิชาตลอดทั้ง ๓ วัน พร้อมแนบแผนที่/ข้อมูลการเดินทางมายังศูนย์ศึกษาฯให้ทราบด้วย จากนั้นให้มีการประสานงานกับจังหวัดเป็นการภายในอีกครั้ง เพื่อยืนยันการได้รับหนังสือ และทำความเข้าใจร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายที่กรมฯได้กำหนดมาในตัวชี้วัด ที่ระบุไว้ตำบลละ ๒๐ คน ที่มีการแยกเป็นตำแหน่งต่างๆ โดยขอความร่วมมือให้คัดเลือกผู้นำชุมชนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กรมฯกำหนด และต้องมีการประสานงานกันอย่างสม่ำเสมอจนถึงช่วงฝึกอบรม
     . เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการฝึกอบรมมาจากกรมฯ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการสามารถดำเนินการขออนุมัติหลักการดำเนินงานโครงการได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลาให้ใกล้ช่วงของการจัดฝึกอบรม  การขออนุมัติโครงการให้เขียนภาพรวมของโครงการทั้งหมด โดยให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมของโครงการที่จะต้องเนินการทั้งหมด อธิบายหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ของโครงการ กำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการฝึกอบรม  จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม  ระยะเวลา กำหนดการฝึกอบรม สถานที่ฝึกอบรม   งบประมาณค่าใช้จ่าย รูปแบบ/กิจกรรมที่ใช้ในการฝึกอบรม  ผู้รับผิดชอบโครงการ และผลที่คาดว่าจะได้รับ หากมีโครงการที่กรมฯได้จัดทำไว้แล้ว สามารถนำมาปรับใช้เพื่อขออนุมัติโครงการกับผู้บังคับบัญชา  ส่วนสิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องมีหลักฐานที่ใช้ประกอบการขออนุมัติโครงการด้วย นั่นก็คือ รายละเอียดงบประมาณ หลังจากนั้นให้ทำหนังสือเสนอผู้มีอำนาจ (อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ) เพื่อลงนามและอนุมัติจัดโครงการ  ซึ่งในส่วนนี้ฝ่ายอำนวยการจะเป็นผู้รับผิดชอบในการขออนุมัติจัดและขอใช้เงิน
               . หลังจากได้รับการอนุมัติให้จัดและอนุมัติให้ใช้เงินแล้ว ให้ผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งเสมือนเป็นเลขานุการคณะทำงาน จัดทำร่างคำสั่งการปฏิบัติงาน โดยระบุขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม เช่น เจ้าหน้าที่โครงการ ทีมวิทยากร วิทยากรเวรประจำวัน ทีมประเมินผล ทีมพัสดุและการเงิน ทีมเวรบริการ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดหน้าที่ของแต่ละคนให้ชัดเจน ในขั้นตอนการเตรียมการก่อนดำเนินการฝึกอบรม  ขั้นตอนต่างๆ สามารถดำเนินการไปพร้อมกันได้  เช่น 
.๑ เตรียมการด้านวิชาการ  จัดประชุมทีมวิทยากรร่วมกันกำหนดว่าจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติ ในเรื่องอะไรบ้าง โดยเทคนิค และวิธีการอย่างใด และจะต้องใช้เวลามากน้อยเพียงใด รวมถึงการกำหนดกิจกรรมเสริมหลักสูตร เพื่อจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดการเรียนรู้  จัดเตรียมเอกสารและรายละเอียดการฝึกอบรม ได้แก่ ประสานกรมฯเพื่อขอรับเอกสารประกอบการบรรยาย จัดทำสื่อประกอบการบรรยาย  Power Point,  DVD  ฯลฯ  ประวัติวิทยากร  ป้ายชื่อวิทยากร  จัดทำแบบประวัติผู้นำชุมชน จัดเตรียมกระเป๋าเอกสาร/อุปกรณ์สำหรับแจกผู้เข้าอบรม (เอกสารประกอบ แบบประวัติผู้นำฯ สมุดโน๊ต ปากกา ดินสอ)  จัดเตรียมวัสดุ/อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกปฏิบัติหรือแบ่งกลุ่มอภิปราย/ฝึกปฏิบัติ (กระดาษฟริปชาร์ต ปากกาเคมี กระดาษกาวย่น) จัดทำแบบประเมินผลการฝึกอบรม/สัมมนา  และจัดทำประกาศนียบัตรสำหรับผู้ผ่านการฝึกอบรม
.๒ ด้านการบริหารจัดการ มีการประชุมทีมงานลูกจ้าง เพื่อสำรวจสถานที่ฝึกอบรม ซ่อมแซ ปรับปรุง ทำความสะอาดสถานที่ฝึกอบรม เช่น ห้องพัก ห้องอาหาร ห้องฝึกอบรม โรงอาหาร สถานที่ทำกิจกรรม  ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ จะต้องมีความพร้อม  ประสานกับฝ่ายอำนวยการในการขออนุมัติใช้รถยนต์ราชการ ทำและหนังสือขออนุมัติเงินยืมราชการ ในกรณีนี้การจัดเตรียมห้องพักได้มีการใช้อาคารราชพฤกษ์ ซึ่งถือว่าเป็นห้องพักใหม่ มีการปรับห้องพักให้รองรับจำนวน ๓๒ ห้อง พักได้ห้องละ ๓ คน โดยมีการแยกพัก คือ ชั้นบนเพศหญิง ชั้นล่างเพศชาย ดังนั้นจึงมีการเตรียมจัดทำแบบลงทะเบียนเข้าห้องพัก คือ การ์ดสีชมพูเพศหญิง การ์ดสีฟ้าเพศชาย สำหรับแจกให้ผู้เข้าอบรมจองเข้าพักในช่วงที่มีการฝึกอบรม และจัดทำป้ายบอกทางเส้นทางมายังสถานที่จัดฝึกอบรมให้มองเห็นเด่นชัดบริเวณหน้าศูนย์ศึกษาฯ
.๓ เตรียมความพร้อมด้านพิธีการ จัดทำคำกล่าวรายงานพิธีเปิดและพิธีปิด และจัดเตรียมไว้ให้พร้อมก่อนช่วงฝึกอบรม ซักซ้อม/ทำความเข้าใจกับทีมพิธีการเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนในพิธีเปิด-ปิด กำหนดผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกรภาคสนาม พิธีกรในงานพิธีการให้ชัดเจน และจัดเตรียมสื่อวีดีทัศน์ให้พร้อม รวมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ดูแลเครื่องเสียงในห้องที่ใช้ฝึกอบรม  ในกรณีที่เชิญผู้บริหารกรมฯมาเป็นประธานให้ทำหนังสือเชิญ พร้อมแนบคำกล่าวประธานในพิธี และกำหนดการที่ชัดเจน
          . ในการฝึกอบรม ส่วนใหญ่จะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน บางครั้งจะมีการฝึกอบรมในช่วงวันจันทร์-วันเสาร์ติดต่อกันหลายสัปดาห์ ทำให้ต้องมีการแบ่งหน้าที่ผู้รับผิดชอบตามหน้าที่ต่างๆในคำสั่ง ดังนั้นก่อนเริ่มดำเนินโครงการ ๑ - ๒ วัน จะต้องมีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมครั้งสุดท้าย เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติงาน โดยยึดคำสั่งปฏิบัติหน้าที่โครงการเป็นหลัก และมีการจัดทำตารางแบ่งงาน/ภาระหน้าที่ เพื่อให้แต่ละคนรับรู้ร่วมกัน หากมีการประสานงานจากผู้เข้าอบรมจะได้มีข้อมูลในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตางรางแบ่งงาน/ภาระหน้าที่ ดังตัวอย่าง                
กิจกรรม
ผู้รับผิดชอบ
วัสดุอุปกรณ์/สิ่งของ
รับลงทะเบียน/จัดทำแบบประวัติ/แจกกระเป๋าอบรม
..นภัทร โชติเกษม
แฟ้มเซ็นชื่อลงทะเบียน
แบบประเมินโครงการ/รวบรวมสรุปข้อมูลวิชาการ
นายณัฐวุฒิ เหมากระโทก
ฟริปชาร์ต ปากกา
พิธีกรประจำวัน/วิทยากรนำกิจกรรมเสริมหลักสูตร
วิทยากรเวรประจำวัน
เอกสาร กำหนดการ
บทสรุป
การจัดฝึกอบรมที่ดีและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน และในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ จำเป็นต้องแจงรายละเอียดของงานทั้งหมด เพราะยิ่งสามารถแจกแจงได้ละเอียดเท่าไร ก็ช่วยให้การวางแผนจัดการและกำกับติดตามงานได้ดีเท่านั้น เมื่อเราทำการแจกแจงงานต่าง ๆ ที่จะต้องดำเนินงานเรียบร้อยแล้ว จึงนำงานเหล่านั้นมาจัดลำดับก่อน-หลัง เพื่อจะได้ทราบว่างานใดจำเป็นต้องดำเนินการก่อน งานใดที่สามารถดำเนินการไปพร้อมกับงานใดและงานใดจำเป็นต้องรอให้งานอื่นเสร็จเรียบร้อยก่อนจึงดำเนินการได้เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการฝึกอบรมลุล่วงไปด้วยดี และเป็นมาตรฐานเดียวกันภายในศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน  ผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องมีความเข้าใจกระบวนงานการดำเนินการจัดฝึกอบรมที่ชัดเจน 
จากการดำเนินโครงการฝึกอบรมหลักสูตรผู้นำการพัฒนา ขั้นตอนการเตรียมความพร้อมก่อนการฝึกอบรมมีความจำเป็นอย่างยิ่ง สามารถเป็นตัวกำหนดว่าโครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมตามขั้นตอนที่ผู้เขียนได้อธิบาย สามารถบริหารโครงการฝึกอบรมให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของตัวชี้วัดโครงการได้  ซึ่งหากพบปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ฝึกอบรม เจ้าหน้าที่โครงการจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าอบรมได้ ส่งผลให้ผลการประเมินโครงการในภาพรวมอยู่ในระดับ “มากที่สุด”

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการประเมินผลการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ

           จากประสบการณ์ในการประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุดธานีที่มีการดำเนินการเป็นประจำทุกครั้งหลังการฝึกอบรม ทำให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่างๆ เช่น หลักการเขียนรายงาน ความล่าช้าในการประมวลผล และการสรุปรวบรวมประเด็นเนื้อหาการฝึกอบรม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อขจัดปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นการประเมินผลการฝึกอบรม ควรจะพิจารณาถึงประเด็นต่าง ๆ ครอบคลุมกระบวนการฝึกอบรมทั้งระบบ มิใช่จะสนใจเฉพาะเพียงผลที่ได้จากกระบวนการฝึกอบรม เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมเท่านั้น ดังนั้นวิธีการที่ใช้ในการประเมิน จึงน่าจะมีความหลากหลายตั้งแต่วิธีการธรรมดาสามัญไปจนถึงเทคนิคที่ใช้ในการวิจัยทางสังคมศาสตร์ 
ขั้นตอนและวิธีดำเนินการประเมินผลการฝึกอบรม
ขั้นที่ 1 กำหนดวัตถุประสงค์การประเมิน ข้อมูลที่จะนำมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์ของการประเมินมาจาก วัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม รวมกับสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องการทราบ แล้วสรุปเป็นวัตถุประสงค์ของการประเมิน
ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนการประเมิน ในขั้นนี้เป็นการนำวัตถุประสงค์ของการประเมินผล มากำหนดเป็นแผนการประเมิน 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) กำหนดประเภท 2) กำหนดคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการทราบ 3) กำหนดแหล่งที่มา ของข้อมูล 4) กำหนดช่วงเวลาจัดเก็บข้อมูล 5) กำหนดเทคนิคหรือวิธีการและเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล และ  6) กำหนดวิธีการ วิเคราะห์ข้อมูล โดยอาจกำหนดเป็นตาราง
ขั้นที่ 3 จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในระดับการประเมินปฏิกิริยาของผู้เข้าอบรม ได้แก่ แบบสอบถาม ซึ่งโดยปกติเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการประเมินผลจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาเอง เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของผู้เข้าอบรม แบบสอบถามโดยทั่วไป ในการประเมินผลระดับนี้ อาจแบ่งออกได้เป็น  2 ชนิด คือ
     1) แบบประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามซึ่งเหมาะสมกับการใช้เป็นข้อคำถามแบบปรนัย กล่าวคือ แต่ละข้อคำถาม จะมีคำตอบหลายคำตอบให้เลือก โดยเมื่อได้รับข้อมูลหรือคำตอบแล้วสามารถนำมาแปลงเป็นตัวเลข แจกแจงความถี่ แล้ววิเคราะห์เชิง ปริมาณได้ ไม่นิยมใช้คำถามปลายเปิด หรือควรจะใช้น้อยที่สุด (อาจไม่เกิน 2-3 ข้อ) แต่ควรพยายามกระตุ้น ให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมข้อคำถามประเด็นต่างๆที่มีอยู่แล้ว ส่วนเนื้อหาหรือประเด็น ที่สอบถาม ควรกำหนดให้ครอบคลุมทุกด้านของโครงการฝึกอบรม ส่วนใหญ่มักจะประกอบด้วย เนื้อหาหลักสูตร ความเหมาะสมของรายละเอียดโครงการและกำหนดการฝึกอบรม วิทยากร เอกสารประกอบการอบรม และสถานที่ฝึกอบรม
     2) แบบประเมินรายวิชา มักจะนิยมใช้เป็นคำถามแบบปรนัยล้วนๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการตอบ เนื่องจาก เป็นเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อวิชาแต่ละวิชาทุกวิชา ผู้เข้าอบรมจึงจะต้องตอบแบบสอบถาม นี้ในระยะเวลา สั้นๆแต่บ่อยครั้ง โดยข้อคำถามมักจะเน้นถึงประเด็นเกี่ยวกับ ความรอบรู้ในเนื้อหาวิชา การสร้างบรรยากาศในการฝึกอบรม ความรู้/ความเข้าใจ/ทักษะ/ทัศนคติ และระยะเวลาฝึกอบรมในแต่ละหัวข้อวิชา
    นอกจากนี้เครื่องมือสำคัญที่ใช้ในระดับของการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรม ซึ่งได้แก่ ข้อทดสอบก่อน-หลังการอบรมนั้น เป็นเครื่องมือที่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการประเมิน มักจะต้องพัฒนาขึ้นมาเอง แบบทดสอบโดยขอความร่วมมือจากวิทยากรในแต่ละวิชาช่วยออกข้อทดสอบให้ ในหัวข้อวิชาที่วิทยากรรายดังกล่าวรับผิดชอบ โดยทั่วไป แบบทดสอบก่อน-หลังการอบรมนั้นมักจะมีลักษณะเป็นข้อทดสอบปรนัย แต่ละข้อจะมีคำตอบหลายข้อให้เลือกตอบ หรืออาจมีลักษณะเป็นการให้เติมคำตอบที่ถูกต้องลงในช่องว่างก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อความสะดวก ในการนำข้อมูลหรือคำตอบที่ได้มาแปลงเป็นตัวเลข เช่นเดียวกับแบบสอบถามทั่วไป อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นผู้พัฒนาเครื่องมือในการประเมินผลการอบรม หรือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผล ระดับใดก็ตาม เครื่องมือเหล่านั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีของเครื่องมือในการประเมินผล ซึ่งได้แก่ ความเที่ยงตรง ความเชื่อมั่น ความเป็นกลางปราศจากอคติ ความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ และความง่าย
ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติตามแผน เมื่อได้จัดเตรียมเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินแล้ว จึงเป็นการลงมือปฏิบัติตามแผน คือ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น การสอบถามด้วยแบบสอบถามหรือการสัมภาษณ์ ตามช่วงเวลาที่ได้กำหนดไว้
ขั้นที่ 5 ขั้นการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปรายงานการประเมินผล เมื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้แล้ว เป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยนำเอาหลักสถิติในการวิจัยทางสังคมศาสตร์มาใช้ก่อน ที่จะนำผลการวิเคราะห์ไปเขียนสรุปเป็นรายงานผลการประเมินโครงการฝึกอบรมต่อไป ส่วนวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล จะขึ้นอยู่กับ เทคนิควิธีการประเมินผลและเครื่องมือที่ใช้ อาจจะประยุกต์ใช้เทคนิคทางระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์ วิธีที่ดีที่สุดการใช้โปรแกรมสำเร็จรูปประเมินผลข้อมูล และนำมารวบรวม/เรียบเรียงเป็นรายงานการประเมินผลการฝึกอบรมต่อไป
ส่วนรายงานการประเมินผลการฝึกอบรม นั้น ควรประกอบด้วย
              1. ชื่อโครงการฝึกอบรมที่ประเมิน
              2. วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
              3. วิธีการประเมินผล
                  3.1 ขอบเขตในการประเมินผล
                  3.2 วิธีการเก็บข้อมูล
                  3.3 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง
              4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
                  4.1 สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ
              5. สรุปและข้อเสนอแนะ
                  5.1 สรุปผลการประเมินโดยส่วนรวมทั้งหมด
                  5.2 ข้อดีและข้อควรปรับปรุง
                  5.3 ข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินและผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม
              6. ภาคผนวก
                  6.1 รายละเอียดโครงการฝึกอบรม
                  6.2 รายชื่อผู้เข้าอบรม/ตำแหน่ง/หน่วยงานที่สังกัด
                  6.3 รายชื่อวิทยากร
                  6.4 แบบประเมินผล
                  6.4 คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ
จากเทคนิคการทำงานดังกล่าวทำให้เกิดการทำงานที่มีเป้าหมายและทิศทางที่ชัดเจน ลดขั้นตอนการทำงาน   ทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น เป็นส่วนช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นแนวทางในการเขียนรายงานการประเมินผลการฝึกอบรมที่ถูกต้อง ส่งผลให้การประเมินผลการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ความรู้เรื่อง               เทคนิคการประเมินผลการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ
เจ้าของความรู้          นายณัฐวุฒิ  เหมากระโทก  
ตำแหน่ง                    นักทรัพยากรบุคคล (พนักงานราชการ)


วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยุทธศาสตร์นำไทย ก้าวไกลในอาเซียน

                    ถ้าเราหลับตามองย้อนอดีต จะเห็นได้ว่า มนุษย์เรามีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มนุษย์มีความชาญฉลาด จนกระทั่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้มนุษย์มีการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรซึ่งกันแล้วกัน ทำให้มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมนุษย์ได้หันมารวมกลุ่มกันมากขึ้น เพื่อใช้ในการต่อรองทางเศรษฐกิจ ดังเช่น กลุ่มประเทศยุโรปรวมตัวกันเป็น กลุ่มประเทศ EU เพื่อใช้อำนาจในการต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ทั้งหลายเหล่านี้เป็นไปตามทฤษฎีความอยู่รอดของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาถูกลดบทบาทลงอย่างมาก เพราะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่เข้ามามีบทบาทในการต่อรองอำนาจทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย ที่เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน และแหล่งเงินทุน
                   หากเราหันกลับมามองประเทศไทย ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่เล็กมาก แต่ถ้าหากเรารวมกับ ประเทศเล็กหลายประเทศ อย่างเช่นที่เรากำลังจะเป็นประชาคมอาเซียนนี้ เราก็สามารถรวมตัวกันเพิ่มมากขึ้น มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นจนกระทั่งสามารถเข้าไปต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้ ลำพังประเทศไทยประเทศเดียวยังมีระบบเศรษฐกิจที่เล็กมากคงไม่สามารถไปต่อรองกับต่างประเทศได้  ดังนั้นการประชุมที่อินโดนีเซียจึงให้ความสนใจในการรวมตัวกันเป็นตลาดเศรษฐกิจแห่งเดียวกัน จนกระทั่งกลายเป็นประชาคมอาเซียน เป็นฐานผลิตเดียวกัน จึงทำให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ทั้ง 5 สาขา คือ (1) เคลื่อนย้ายการลงทุน (2) เคลื่อนย้ายการค้าขายสินค้า (3) เคลื่อนย้ายการบริการ (4) เคลื่อนย้ายแหล่งเงินทุน (5) เคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558
                   ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันกับกลุ่มประเทศ EU หรือประเทศสหรัฐอเมริกาได้นั้น เราจะต้องปรับตัวและเสริมสร้างระบบการคมนาคมขนส่ง เทคโนโลยี พลังงาน การเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญาการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาคกันนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะประเทศต่างๆ ยังมีช่องว่างทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันมาก  แต่อาเซียนจะอยู่เพียงลำพังไม่ได้จะต้องมีการติดต่อกับต่างประเทศ จะต้องมีการบูรณาการกับระบบเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดอาเซียน+3 และอาเซียน+6 เมื่อมีอาเซียน+6 จะทำให้มีประชากรรวมกันถึง 3,000 ล้านคน มี GDP รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของโลก
                    จะเห็นได้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม เป็นทำเลที่มีความเหมาะสมที่สามารถเชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ในอาเซียน ทั้งทางบกและทางอากาศ เช่น รถไฟ และรถยนต์  เส้นทางรถไฟของภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเชื่อมโยงไปยังประเทศต่างๆ ได้ โดยเฉพาะในแถบประเทศอินโดจีน รวมทั้งเส้นทางรถไฟสามารถไปยังประเทศจีนทางตอนใต้ได้ ส่วนฝั่งตะวันออกสามารถเชื่อมโยงไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และเข้าสู่ประเทศเวียดนามทางตอนใต้ได้เช่นกัน จะเห็นได้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความเหมาะสมและเป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญ ทำให้มีการวางระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าระหว่างประเทศ เส้นทางรถยนต์ก็เช่นเดียวกัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่สามารถเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมไปยังประเทศต่างๆ ได้ เช่น จากกรุงเทพฯ ผ่านนครราชสีมา หนองคาย เข้าสู่ประเทศลาว ที่สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 แล้วไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีนได้ ดังนั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญที่จะพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะผลิตสินค้าการลงทุนการพาณิชย์ที่สำคัญ ในอนาคตจะมีการลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เกษตรกรสามารถส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น เนื่องจากมีอัตราภาษีที่เป็นศูนย์ ไม่มีการเก็บภาษีในกลุ่มประเทศอาเซียน ผู้ประกอบการมีการปรับโครงสร้างในการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นักธุรกิจก็สามารถสร้างเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นกับผู้ประกอบการในอาเซียนได้
                    ประเทศในกลุ่มอาเซียนจะมีระบบโลจิสติกส์ที่สะดวกและถูกลง สามารถจัดตั้งธุรกิจในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพ เทคโนโลยี ระบบสาธารณูปโภค และระบบขนส่งโลจิสติกส์ มีตลาดส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น ตลาดส่งออกสินค้าของไทยนั้น ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นจำนวนมากที่สุด  ทำให้มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยจึงต้องมีการปรับปรุงกลไกเพื่อความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรม มีการปรับตัว ความรู้ความเข้าใจ ต้องรู้จักการบริหารความเสี่ยง และการใช้ประโยชน์สูงสุด สิ่งเหล่านี้ถือว่ามีความสำคัญที่จะทำให้เราเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้เป็นอย่างดี
                    กลุ่มประเทศอาเซียนมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่ก่อตั้งอาเซียน และกลุ่มประเทศที่เป็นสมาชิกใหม่ทั้ง 10 ประเทศนี้ มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน แต่จะมีความแตกต่างมากกว่า เช่น ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา และภาษา  ส่วนความเหมือนก็จะมีเฉพาะบางวัฒนธรรมเท่านั้น ประวัติศาสตร์ของไทยมักจะกล่าวถึงการทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน
                   การที่เราจะรุกหรือรับอาเซียนนั้น เราจะต้องลืมประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกัน เราจะต้องมีความปรองดอง มีความเป็นมิตรกันก่อนที่จะทำการค้าระหว่างประเทศได้ เศรษฐกิจของทุกประเทศต่างส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อตลาดทุนของแต่ละประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศขนาดเล็ก อย่างเช่น กรีซ ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นการรวมตัวของอาเซียนเพื่อที่จะทำให้กลุ่มประเทศในอาเซียนมีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น มีภูมิคุ้มกันสามารถเปิดตลาดการลงทุนได้เพิ่มขึ้น กลุ่มประเทศอาเซียนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในการสื่อสารภาษาอังกฤษอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทยยังด้อยกว่าประเทศเหล่านี้อยู่พอสมควร แต่ถ้าเปรียบเทียบเรื่องเทคโนโลยีแล้ว สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ถือว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ส่วนระบบขนส่งโลจิสติกส์ สิงคโปร์ถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด สำหรับประเทศไทยก็มีความพร้อมที่จะพัฒนาระบบรถ ราง เรือ ซึ่งเป็นจุดสำคัญมากที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งโลจิสติกส์ ส่วนประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด ก็คือ พม่า และลาว ทรัพยากรต่างๆ ยังถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก สามารถเอื้อประโยชน์ให้ไทยในฐานะเป็นเมืองอุตสาหกรรม ได้มีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยมีจุดเด่นทางด้านการโรงแรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งสิงคโปร์ก็เป็นผู้นำศูนย์กลางทางการเงิน และศูนย์กลางการค้าทางเรือ
                  ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 9 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กำหนดว่า ประชาคมอาเซียนจะต้องมี 3 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง และสังคมและวัฒนธรรม อาเซียนมีตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 600 ล้านคน การลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีหลักในการลงทุน 3 หลัก คือ (1) การลงทุนเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ (2) การลงทุนเพื่อแสวงหาทรัพยากร (3) การลงทุนเพื่อแสวงหาความรู้ ทั้ง 3 หลักนี้มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมาก เช่น การเข้าไปแสวงหาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นการตั้งนิคมอุตสาหกรรมบริเวณชายแดน เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานที่มีฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านได้มีโอกาสเข้ามาทำงาน ถ้าหากการลงทุนลักษณะนี้ มีการลงทุนเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนอาจจะทำให้ตลาดมีขนาดเล็กเกินไป แต่เมื่อมีการรวมตัวของประเทศอาเซียนกับประเทศใกล้เคียง หรือที่เรียกว่า อาเซียน+6 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย จะทำให้ระบบเศรษฐกิจและตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจาก FTA หรือเขตการค้าเสรี ทำให้เกิดขึ้นตกลงในการค้าระหว่างประเทศที่มีอัตราภาษีที่เป็นศูนย์
                  ถ้ามองภาพรวมอาเซียนอาจจะถูกมองว่าเป็นตลาดล่างผสมกับตลาดบน เมื่อตลาดเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและคุณภาพไม่ดี โอกาสเป็นของผู้ประกอบการทุกกลุ่มที่ต้องแย่งชิงกลไกการตลาด อาเซียนมีการขยายการค้าการลงทุน จะพบว่าตลาดในอาเซียนนั้นมีความท้าทาย ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละประเทศที่สามารถแข่งขันกันได้ดี ตลาดการส่งออกอาเซียนโตขึ้นเป็น ๒ เท่า คนในอาเซียนเริ่มที่รับรู้การเป็นตลาดเสรีมากขึ้น ใน ๑๐ ประเทศอาเซียน ประเทศที่มีการตื่นตัวมากที่สุด คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียนมากที่สุด คือ น้ำมันสำเร็จรูป ที่ส่งออกไปยังลาวและกัมพูชา และมีการส่งออกรถยนต์มากที่สุดในอาเซียน รวมทั้งมีการส่งออกเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน
                 ประเทศไทยมีเครือข่ายอุตสาหกรรมส่งออกเครื่องจักรกล เป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่น ไทยสามารถเป็นฐานการผลิตเครื่องจักรกล เมื่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ยังคงมีฐานผลิตอยู่ในประเทศไทย อุตสาหกรรมย่อยที่มีความเกี่ยวเนื่องกันก็ยังคงอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน การเปิดเสรีทางการค้านั้น สินค้าไทยมีความได้เปรียบทางด้านสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าเกษตรประเทศไทยมีความได้เปรียบ เฉพาะ ข้าวโพด ยางพารา ส่วนมันสำปะหลังนั้นไทยยังคงมีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่ไทยมีความเสียเปรียบ เพราะอินโดนีเซียกับมาเลเซียสามารถครองตลาดน้ำมันปาล์มโลก สิ่งเหล่านี้ประเทศไทยจึงต้องเตรียมรับมือการแข่งขันที่มีความรุนแรงขึ้น
                  ถึงแม้ว่าภาษีจะเป็นศูนย์ แต่ยังคงมีมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ที่ยังคงเป็นอุปสรรคในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเสรีทางด้านการบริการ ทางด้านการบิน ประเทศไทยนั้นมีความเข้มแข็งเพราะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ไทยมีจุดเด่นทางด้านการท่องเที่ยว การบิน รวมทั้งมีการบริการทางด้านการแพทย์คุณภาพสูงแต่ราคาต่ำ ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบประเทศอื่นอยู่มาก แต่สิ่งที่ต้องมีการพัฒนาคือ ระบบโทรคมนาคมที่ประเทศไทยยังคงล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก การเปิดเสรีทางด้านการลงทุน จะมีนักลงทุนในอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น การลงทุนถือว่าเป็นโอกาสสำคัญที่นักธุรกิจไทยสามารถเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ในประเทศต่างๆ ได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ นักลงทุนรายย่อย (SMEs) ของไทยที่มีจำนวนมาก เป็นเรื่องกังวลที่ไทยยังคงมีความเสียเปรียบ จะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาให้มากขึ้น การเปิดเสรีด้านการลงทุนเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยในบางอุตสาหกรรมที่มีความเข้มแข็ง สามารถเข้าไปลงทุนในตลาดอาเซียนได้ อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยมีฐานการผลิตที่ใหญ่มาก มีผลผลิตจำนวนมากพอสมควร แต่ปัญหาคือไม่มีการเพิ่มผลิตภาพ ทำให้ได้ผลผลิตเฉลี่ยน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐจึงต้องมีการศึกษาเมล็ดพันธุ์ ภาคเอกชนต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาช่วยในการเพิ่มผลผลิต
                 การลงทุนจะมีการพัฒนาตลาดทุน มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรีมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่อาจจะได้รับผลกระทบในช่วงที่ประเทศนั้นประสบกับปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วต่างชาติจะนำเงินที่ลงทุนออกจากประเทศนั้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นต้องมีกลไกหรือมาตรการในกาควบคุมดูแลให้เงินทุนเหล่านั้นยังคงอยู่ในประเทศ เราจะต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเอง เพื่อพร้อมที่จะเผชิญกับผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตส่วนการเปิดเสรีทางด้านแรงงาน มีการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและแรงงานไม่มีฝีมือ เป็นปัญหาใหญ่มากที่ประเทศไทยประสบอยู่ เพราะขาดแคลนแรงงานที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงต้องมีการอาศัยแรงงานต่างชาติ ทำให้จะต้องมีการพัฒนาทักษะและยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะแรงงานอาชีวศึกษาที่ยังขาดแคลนแรงงานอยู่มาก รัฐบาลต้องให้ความสนใจผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs จะต้องมีการปรับตัว มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพาะสินค้าใดที่มีต้นทุนต่ำกว่า สินค้านั้นจะมีโอกาสขายได้ง่ายกว่า ต้องคำนึงว่าสินค้าไทยยังคงมีราคาสูงกว่าสินค้าของประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าจึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องพยายามหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางด้านต้นทุน โดยเราควรหันไปมองกลุ่มประเทศ CLMV กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถเข้าไปลงทุน มีการเปิดธุรกิจใหม่ๆ และมีการจ้างแรงงานจากประเทศเหล่านี้
                  นอกจากนี้จะต้องศึกษารสนิยมของตลาดอาเซียน มีการปรับแผนเพิ่มกลยุทธ์ในการรุกตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ต้องมีการลงทน มีการพัฒนาแหล่งเงินทุนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อส่งเสริมให้มีการลงทุนที่มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว การลงทุนในต่างประเทศจะต้องมีเพื่อนหรือที่ปรึกษาอยู่ในประเทศเหล่านั้นด้วย เพื่อความสะดวกในการขอคำปรึกษาทางด้านกฎหมาย การลงทุน และการค้า
                  หน้าที่ของรัฐคือ ต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ มีการเตรียมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น มีการปรับปรุงระบบขนส่งที่สามารถคมนาคมได้รวดเร็วมากขึ้น จะต้องมีการส่งเสริมในการพัฒนาทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ระบบขนส่ง และระบบโทรคมนาคม สิ่งสำคัญคือเราต้องทำความเข้าใจศึกษาข้อมูลของการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และศึกษาข้อมูลพื้นฐานของประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้รับยังต้องเข้ามามีบทบาท ดังเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม มีหน้าที่ในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ มีการส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพให้ดีขึ้น ส่งเสริมอุตสาหกรรมหลัก ยานยนต์ การเกษตร อาหาร และสิ่งทอ ให้มีการตั้งฐานการผลิตอยู่ในประเทศไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมพื้นบ้าน พยายามบูรณาการกับมหาวิทยาลัยให้มีการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการประชาสัมพันธ์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้ประชาชนรับทราบ
                  ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ  เลขาธิการอาเซียน กล่าวในหัวข้อ “โอกาส ประเทศไทย ในเวทีอาเซียน” กล่าวว่า“ถนนสู่อาเซียน ศักยภาพทางการค้า สู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม เมือง นำมาซึ่งประโยชน์อันมหาศาลต่อภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุน” สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยคือจุดกำเนิดของอาเซียน ถือว่าเป็นมรดกทางการทูตที่นักการทูตไทยมอบให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราควรตระหนักว่าไทยคือผู้ที่คิดค้นหรือให้กำเนิดอาเซียน  ประเทศไทยควรจะเตรียมความพร้อมและตระหนักถึงผลประโยชน์ของอาเซียน ซึ่งในวันนี้เราจะเห็นว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการใช้ภาษาของอาเซียน เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าสู่อาเซียนนั้นคือการเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ตลาดของประเทศไทยจะขยายขึ้น 10 เท่า ตลาดจะมีการขยายกำลังซื้อเพิ่มขึ้นออกไปอีก 9 ระบบเศรษฐกิจ ขณะนี้เอเชียตะวันออกกลายเป็นจุดศูนย์กลางของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีพลวัตมากที่สุด อาเซียนจึงกลายเป็นจุดศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีประเทศไทยที่อยู่กึ่งกลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพที่เพียงพอต่อการเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในอนาคต
                 แต่เราจะมีความพร้อมมากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่เราเช่นกัน ถ้าเรายังไม่มีความพร้อม เราก็ไม่สามารถไปแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ และไม่สามารถเข้าไปตักตวงผลประโยชน์จากศักยภาพที่เรามีอยู่ได้ ดังนั้น AEC จะเป็นสิ่งที่เราจะได้ยินและคุ้นเคยมากขึ้นนับจากนี้ ทำให้มีการกำหนด 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนขึ้น คือ การเมืองและความมั่นคง การที่เราจะอยู่ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ สิ่งแรกที่เราจะทำได้ก็คือ อย่าทำสงคราม อย่าสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค และอย่าสร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพราะอาจจะสร้างความกังวลใจของประชาคมโลกได้ ต่างชาติจะไม่กล้าเข้ามาลงทุนในอาเซียน การค้าระหว่างประเทศก็ไม่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้อาจจะเข้ามาเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่เป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นสิ่งแรกคือ อาเซียนจะต้องมีความเรียบร้อย มีความมั่นใจ และมีความไว้วางใจระหว่างกัน เราจะต้องมีการพูดถึงปัญหาเรื่องเขตแดน ปัญหาชายแดน เพื่อหาแนวทางในการลดความขัดแย้งภายในภูมิภาค
                 สิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญ ก็คือ AEC: ASEAN Economic Community หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะเป็นสิ่งที่กระทบกับการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ กระทบกับตำแหน่งงาน การจ้างงาน การปรับโครงสร้างทางด้านอุตสาหกรรม การปรับตัวทางธุรกิจ กระทบกับการลงทุน การส่งออก ตลาดการลงทุน การบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
                  อาเซียนคือการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลก เพราะทั่วโลกพูดถึงเขตการค้าเสรี อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรการค้าโลก โลกจะเปิดเข้าหากันมากขึ้น โลกจะเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน มีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ อาเซียนคือ กลไกที่ปรับตัวเข้าสู่โลกยุคใหม่ เข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์มากขึ้น อาเซียนเป็นสิ่งที่ให้ประเทศสมาชิกปรับตัวเข้าสู่ประชาคมโลกที่เป็นตลาดเสรีมากขึ้น ดังนั้นต้องมองดูว่า อาเซียนสามารถกำหนดเงื่อนไข หลักการ และกลไกอย่างไรบ้าง ที่จะพยายามไม่ให้กระทบต่อการปรับตัวสู่ประชาคมอาเซียน
                   ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวและเตรียมตัวเรื่องความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เรื่องการศึกษาการผลิตทรัพยากรมนุษย์เพื่อที่จะออกสู่ตลาดที่กว้างมากขึ้น การทำกิจกรรมทางการค้าจะต้องทำโดยยุทธศาสตร์ของภาษาอาเซียน ความสามารถในการแข่งขันประเทศไทยมีความพร้อมระดับใด ไทยก็จะต้องมีการปรับตัวให้เร็วขึ้น ปัญหาคือเราจะสามารถปรับตัวได้ทันต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้หรือไม่
                   ถ้าเรามองความพร้อม มองยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีเรื่องการศึกษา ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะว่า ระบบการศึกษามีจำนวนคนมาก หลายระดับ และทักษะความพร้อมความรู้ไม่เท่ากัน ทรัพยากรในด้านการศึกษา รวมทั้ง ระบบการศึกษา เทคโนโลยีทางการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ประเทศไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการค้นคว้า การวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีความสนใจและทุ่มเทงบประมาณเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สินค้า และผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง ส่วนประเทศไทยนั้นยังขาดสิ่งเหล่านี้อยู่มาก ดังนั้นประเทศไทยจึงควรเพิ่มงบประมาณงบประมาณ และให้ความสนใจในการเพิ่มจำนวนของการค้นคว้า การวิจัย และการพัฒนา
                   สิ่งที่น่ากลัวสำหรับประเทศไทย คือ ยังติดอยู่ในกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง เพราะปัจจุบันเรายังคงนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ยังไม่สามารถผลิตขึ้นเองได้ ทำให้การค้าระหว่างอาเซียนกับโลกคิดเป็นเพียง ร้อยละ 25 ของการค้าโลก ถ้าหากต้องการเป็นประชาคมอาเซียนจะต้องมีการค้าระหว่างประเทศถึง ร้อยละ 50 ของการค้าโลก สำหรับประเทศไทยมีเพียงบางบริษัทที่ก้าวขึ้นสู่การค้าระหว่างประเทศที่แท้จริง เช่น บริษัทSCG บริษัทCPF บริษัทPTT เป็นต้น สามารถเข้าไปเจาะตลาดในหลายประเทศ สิ่งที่ระบบเศรษฐกิจของไทยที่ต้องทำคือ จะต้องส่งเสริม ธุรกิจ SMEs ที่มีจำนวนมากถึง 80% ของระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาของธุรกิจ SMEs คือไม่มีคนอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นทุกประเทศ ไม่มีทุนที่มากพอที่จะสำรวจตลาดและหาผู้ร่วมลงทุน ไม่มีฝ่ายขาย ฝ่ายวิเคราะห์ และฝ่ายวิจัย ที่มีความสามารถเพียงพอที่จะทุ่มเทให้กับการทำงานในธุรกิจ SMEs แต่องค์กรการค้าขนาดใหญ่ ธนาคารขนาดใหญ่ และบริษัทขนาดใหญ่ เขามีทีมงานเหล่านี้ที่มีคุณภาพ ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์จากกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของอาเซียนได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก กลุ่มธุรกิจ SMEs ในตลาดอาเซียนต้องมีจำนวนมาก เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่สำคัญธุรกิจการธนาคารต่างๆ และรัฐบาลต้องช่วยกันคิด เพื่อหาแนวทางในการสร้างความได้เปรียบทางการค้า
                   ความสามรถในการแข่งขัน จะต้องมีการเข้าถึงกองทุนเงินทุนเข้าสู่อาเซียน และจะต้องมีการติดต่อสื่อสารกับประเทศอื่นให้เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่าย บุคลากรที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น มีประสบการณ์ และมีการเตรียมตัวที่ดีพอที่จะออกสู่ตลาดอาเซียน ตลาดอาเซียนเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถบุคลากรของประเทศไทย สิ่งที่ต้องทำคือ รวมตัวบุคคลที่มีความสามารถเพื่อร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่บุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากประเทศไทยนั้นหาได้ยากมาก
                   ทัศนคติของคนไทยและธุรกิจไทยต้องทำการศึกษาประเทศญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง เพราะเขามีการสร้างฐานการผลิตขึ้นในต่างประเทศ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์และสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล แต่นิสัยของคนไทยยังคงยึดติดกับความสะดวกสบาย ทำให้ธุรกิจไทยยังมีประสบการณ์น้อยกว่าประเทศอื่นในอาเซียน ดังนั้นคนไทยจะต้องเปลี่ยนทัศนคติ จะต้องออกไปแสวงหาผลประโยชน์ในต่างประเทศ แต่ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของประเทศเหล่านั้นด้วย ถึงแม้จะเป็นสิ่งแปลกใหม่ของคนไทย แต่เราก็ต้องทำให้ได้ เพราะสถานการณ์โลกปัจจุบันบีบบังคับให้เราต้องทำอย่างนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราจะต้องมีความเข้าใจกฎบัตรอาเซียนเสียก่อน เพราะเป็นเสมือนกฎหมาย/ข้อบังคับของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ยังต้องมีการติดต่อ ประสานงานกับคนอื่นให้มีความเข้าใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนในประเทศมีความเท่าเทียมกัน ในการที่จะก้าวขึ้นเป็นพลเมืองของอาเซียน ดังนั้นรับบาลจะต้องมีการทุ่มเททางด้านการศึกษาและทักษะทางภาษาให้แก่เยาวชนอายุระหว่าง 3 – 10 ปี
                   นับจากนี้เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้ได้โดยเร็วที่สุด ต้องมีการขยับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในอาเซียนได้นั้น จะต้องมีความพร้อมในสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องพร้อมในการแข่งขัน มีการจัดระบบองคาพยพ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศ มีบุคลากรที่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนอื่นได้ เสาหลักเรื่องสังคมและวัฒนธรรม คือเสาหลักที่ทำให้คนในอาเซียนรู้จักความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ดังนั้นเราจะต้องใช้ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เราสามารถผูกโยงกับต่างประเทศได้อย่างสง่างาม ทำให้เสาหลักนี้เป็นอัตลักษณ์ร่วมกันของคนในอาเซียนให้ได้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เราต้องมีความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต้องไม่มีการปิดบังข้อมูลที่อาจจะเกิดผลกระทบต่อส่วนรวมในอาเซียน มีการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นในอาเซียน ร่วมคิดร่วมทำและร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มประเทศสมาชิก
                   การเกิดขึ้นของอาเซียนเริ่มก่อตัวจากประเทศเล็กๆ ที่มาร่วมตัวกัน มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการก่อตั้งกองทุนอาเซียน เพื่อใช้ในยามจำเป็น หรือใช้ในช่วงที่เกิดปัญหาทางวิกฤติเศรษฐกิจ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ อาเซียนได้ทำเพื่อประชาชนทั้ง 600 ล้านคน เพื่อประโยชน์ของทั้ง 10 ประเทศ ทำให้เรามีโอกาสมากขึ้น ดังนั้นพวกเราต้องตื่น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อย่าปล่อยให้ประวัติศาสตร์เป็นผู้พิพากษาหรือคอยเตือนให้เรามีความพร้อม แต่เราจะต้องมีความพร้อมและเตรียมพร้อมในทุกด้าน เพื่อได้รับประโยชน์จากการเป็นประชาคมอาเซียนให้มากที่สุด แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราจะต้องมีการพึ่งพาตนเองให้ได้ ดังคำสุภาษิตไทยที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”