วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิหลังงานวิจัย

           ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งได้มีการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาที่ยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม ภาษา อาหาร และการแต่งกาย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าแสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน
สังคมไทยมีลักษณะเป็นสังคมเกษตรกรรม คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมมีลักษณะแตกต่างกัน ทำให้วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันมาก จะเห็นได้จากการแต่งกายของคนไทยมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ในอดีตเครื่องแต่งกายของคนไทยจะนิยมใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น หนังสัตว์ หม่อน และไหม รวมทั้งมีการแต่งกายตามสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของแต่ละท้องถิ่น       เช่น การสวมเสื้อผ้าที่บางในฤดูร้อน การสวมเสื้อผ้าหนาในฤดูหนาว เป็นต้น การแต่งกายของคนไทยนั้นได้มีการสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลานาน  จนกลายเป็นพัฒนาการขั้นตอนการผลิตเครื่องแต่งกายมีรูปแบบที่หลายหลายขึ้น และกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมากขึ้น อาทิ ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ ผ้าซิ่น เป็นต้น  ซึ่งผ้าไหมถือได้ว่าเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติไทย กรรมวิธีการทอผ้าของแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของ             แต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีลวดลายที่สวยงามและประณีตมาก ต่อมาได้มีวิวัฒนาการกรรมวิธีการทอผ้าโดยนำเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเข้ามาช่วยในการผลิต และได้มีการปรับปรุงลวดลายให้มีความทันสมัยและเป็นสากลมากขึ้น มีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกเข้ากับวัฒนธรรมไทยได้อย่าง    ลงตัว  ทำให้ต่างชาติมีความสนใจที่จะแต่งกายด้วยผ้าไหมไทยมากขึ้น ในทางกลับกันคนไทยไม่นิยมแต่งกายด้วยผ้าไทย แต่มีการแต่งกายตามแบบสังคมตะวันตก จะเห็นได้จากการที่คนไทยนิยมซื้อเสื้อผ้าของต่างประเทศมาสวมใส่ และวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่มักแต่งกายตามกระแสของสังคมตะวันตก
สภาพของสังคมไทยในปัจจุบันมีค่านิยมการแต่งกายที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นสังคมที่มีการเลียนแบบการแต่งกายจากสื่อต่างๆ เริ่มมีการรับอิทธิพลและวัฒนธรรมของชาติตะวันตกเข้ามามากขึ้น ทำให้การ           แต่งกายของคนไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยมของสังคมตะวันตก จะเห็นได้จากการที่คนไทยทั่วไปนิยมสวมเสื้อยืด กางเกงยีนส์  ส่วนข้าราชการและนักธุรกิจก็มักจะสวมชุดสูททำงาน ขณะเดียวกันการ             แต่งกายของนิสิตนักศึกษาได้มีการแต่งกายที่ผิดระเบียบของทางมหาวิทยาลัยมากขึ้น เช่น ผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้น สวมเสื้อที่รัดรูป  ผู้ชายมักจะสวมเสื้อนักศึกษากับกางเกงยีนส์  และการแต่งกายของวัยรุ่นไทยมีการแต่งกายที่ล่อแหลมมากขึ้น เช่น การนุ่งกางเกงขาสั้น การสวมเสื้อไม่มีแขน  การแต่งกายลักษณะนี้อาจจะกลายเป็นปัญหาสังคมด้านอื่นตามมา เช่น ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมต่างๆ นอกจากนี้วัยรุ่นไทยยังนิยมแต่งกายตามสมัยนิยมของต่างประเทศ มีการแต่งกายตามแบบดารา นักร้องของต่างประเทศ                    จนทำให้ลืมการแต่งกายแบบไทย เอกลักษณ์ความเป็นไทย  และในที่สุดการแต่งกายแบบไทยก็จะ                 สูญหายไปจากสังคมไทย
ปัญหาการแต่งกายของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และยังไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีความชัดเจน วัยรุ่นหลายคนอาจจะมองว่า          การแต่งกายแบบไทย เป็นสิ่งที่ล้าสมัย เป็นสิ่งที่น่าอับอาย แต่ในความเป็นจริงการแต่งกายแบบไทย เป็นสิ่ง       ที่ควรยกย่อง สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการแต่งกายแบบไทย  ด้วยเหตุนี้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการแต่งกายของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีการกำหนดนโยบายรณรงค์         ให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือชุดประจำถิ่นสัปดาห์              ละหนึ่งครั้ง เพื่อสืบสานเอกลักษณ์ของชาติไทย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักผ้าไทย และสืบสานเอกลักษณ์ของไทยไม่ให้สูญหายไปจากสังคม ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครที่จัดให้นักเรียนแต่งกายชุดท้องถิ่น หรือผ้าไทยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งอยู่แล้ว  ส่วนระบบอุดมศึกษาได้มีการ                         ดำเนินการตามนโยบายนี้ไปแล้วบ้าง เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เป็นต้น                                  (www.m-culture.go.th. วันที่ 22 มิถุนายน 2554 เวลา 00.50 .)
จังหวัดมหาสารคามเป็นพื้นที่หนึ่งที่การจัดตั้งสถานศึกษาขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษา เมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งด้านพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงาม มหาวิทยาลัยมหาสารคามมีนิสิตจำนวน 37,776 คน  (กองทะเบียนและประมวลผลมหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2554 : 6) ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งที่มีนิสิตเข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการจัดจำหน่ายชุดนิสิตที่ถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย  แต่นิสิตส่วนมากไม่ปฏิบัติตามระเบียบของมหาวิทยาลัย จะเห็นได้จากการที่นิสิตนิยมสวมเสื้อกิจกรรม เสื้อชมรม และกางเกงยีนส์มาเรียนเป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากการแต่งกายเครื่องแบบนิสิตไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศของจังหวัดมหาสารคาม  กอปรกับทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามยังมีการบังคับใช้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการแต่งกายของนิสิตที่ไม่เคร่งครัด สิ่งที่สามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้คือการออกแบบชุดอนุรักษ์วัฒนธรรม  และมีการรณรงค์ให้นิสิตสวมใส่ชุดอนุรักษ์วัฒนธรรมสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดมหาสารคาม และเป็นการอนุรักษ์และสืบสานเอกลักษณ์ความเป็นไทย นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ
ดังนั้นคณะผู้ศึกษาจึงสนใจศึกษาประเด็นที่เกี่ยวกับการรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษาสวมชุดอนุรักษ์วัฒนธรรม เพื่อศึกษาทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีต่อการแต่งกายชุดอนุรักษ์วัฒนธรรม  คณะผู้ศึกษาจึงได้เลือกทำการวิจัยเรื่อง ทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มีต่อการแต่งกาย               ชุดอนุรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยมหาสารคามเพื่อศึกษาทัศนคติของนิสิตที่มีต่อการแต่งกายชุดอนุรักษ์วัฒนธรรม และเพื่อนำความต้องการและทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาเป็นแนวทางในการส่งเสริม พัฒนา และปรับปรุงให้ตรงความต้องการของนิสิตได้